"พาณิชย์" เผยยอดการใช้สิทธิ FTA ส่งออก 4 เดือน ปี 61 เพิ่มขึ้นกว่า 20%

19 มิ.ย. 2561 | 05:16 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2561 | 12:16 น.
พาณิชย์เผยยอดการใช้สิทธิ FTA ส่งออก 4 เดือนปี 2561 เพิ่มขึ้นกว่า 20% อาฟต้าใช้สิทธิสูงสุด ขณะใช้สิทธิจีเอสพีไปสหรัฐฯสูงสุดสัดส่วนกว่า 93%

กรมการค้าต่างประเทศเผยยอดการใช้สิทธิ FTA ส่งออก 4 เดือนของปี 2561 มีมูลค่า 21,706.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20.33% อาเซียนนำโด่งใช้สิทธิสูงสุด ตามด้วยอาเซียน-จีน ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-ญี่ปุ่น และอาเซียน-อินเดีย จับตาส่งออกกระปุกเกียร์และส่วนประกอบไปจีนมาแรง หลังภาษีลด ส่วนการใช้สิทธิ GSP ส่งออก มีมูลค่า 1,470.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.13% โดยสหรัฐฯ ใช้สิทธิสูงสุด มีสัดส่วนถึง 93%

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในช่วง 4 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-เม.ย.) ว่า ไทยมีการส่งออกไปยัง 17 ประเทศซึ่งเป็นคู่เจรจา FTA มูลค่า 45,695.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 12.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 40,516.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 21,706.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 20.33%  คิดเป็นสัดส่วน 73.06% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิภายใต้ FTA ที่มีมูลค่าถึง 29,709.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยกรอบความตกลง FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน(อาฟต้า) 8,090.63 ล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียน-จีน 5,364.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไทย-ออสเตรเลีย 3,006.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทย-ญี่ปุ่น 2,285.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอาเซียน-อินเดีย 1,156.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าที่มีอัตราการใช้สิทธิ FTA สูงที่สุด 5 ประเทศ คิดตามสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ได้แก่ ชิลี ออสเตรเลีย เปรู ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้สิทธิ FTA ส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นมา จีนมีการลดภาษีภายใต้ FTA อาเซียน-จีนเพิ่มเติม โดยเฉพาะสินค้ากระปุกเกียร์และส่วนประกอบบางรายการที่เป็นสินค้าอ่อนไหว (sensitive list) จากเดิมในปี 2560 หากมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E ภายใต้ FTA อาเซียน-จีน จะถูกเก็บอากรขาเข้าจีน 10% ได้ลดลงเหลือ 5% ในปี 2561 ส่งผลให้การใช้สิทธิ FTA ส่งออกสินค้ากระปุกเกียร์และส่วนประกอบในช่วง 4 เดือนของปี 2561 ขยายตัวทะลุกว่า 5 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับสินค้าที่ครองแชมป์ใช้สิทธิฯ FTA สูงสุดอันดับแรกของแต่ละกรอบ FTA ได้แก่ อาเซียน (ATIGA) รถยนต์ขนส่ง/รถกระบะ อาเซียน-จีน (ACFTA) ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ อาเซียน-อินเดีย (AIFTA) ลวดทองแดงเจือ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ส่งไปออสเตรเลีย เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำหรือชุบด้วยเงิน

อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ส่งไปนิวซีแลนด์ โพลิเอทิลีนความถ่วงจำเพาะ 0.94 ขึ้นไป อาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) แผ่นแถบทำด้วยอลูมิเนียมเจือ อาเซียน-เกาหลี (AKFTA) แผ่นไม้อัด (พาร์ติเคิลบอร์ด) ไทย-อินเดีย (TIFTA) เครื่องปรับอากาศ ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) รถยนต์ขนส่งของ น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เนื้อไก่และเครื่องในไก่ที่ปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย ไทย-เปรู (TPCEP) เครื่องรับวิทยุกระจายเสียง และไทย-ชิลี (TCFTA) รถยนต์สำหรับขนส่ง น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน

นายอดุลย์กล่าวว่า สำหรับการส่งออกไปยังประเทศที่ให้ GSP กับไทยในช่วง 4 เดือนของปี 2561 มีมูลค่ารวม 18,632.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 16,461.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในจำนวนนี้เป็นการส่งออกโดยใช้สิทธิ GSP มูลค่า 1,470.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 0.13% คิดเป็นสัดส่วน 55.38% ของการส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ทั้งหมด

โดยตลาดส่งออกที่ใช้สิทธิ GSP สูงที่สุด คือ สหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,368.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4.12% คิดเป็นสัดส่วน 93% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP รวมทุกระบบ เนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2560 สหรัฐฯ ได้เพิ่มรายการสินค้าในบัญชีที่ได้รับ GSP เช่น เครื่องใช้ในการเดินทาง (Travel Goods) จำนวน 27 รายการ และเม็ดพลาสติกเซลลูโลสไนเทรต (Cellulose nitrates) ทำให้มีการขอใช้สิทธิ GSP ส่งออกเพิ่มขึ้น โดยสินค้าเซลลูโลสไนเทรต มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 5.76% ส่วนสินค้าเครื่องใช้ในการเดินทางที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง ได้แก่ กระเป๋าถือด้านนอกทำจากหนัง กระเป๋าถือด้านนอกทำจากหนังอัด กระเป๋ากีฬา กระเป๋าถือทำจากหนังเคลือบเงา เป็นต้น ส่วนตลาดส่งออกที่ใช้สิทธิ GSP รองลงมา คือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิรวม 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ 41 ล้านดอลลร์สหรัฐฯ นอร์เวย์ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และญี่ปุ่น 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามลำดับ

สำหรับรายการสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP สูง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการใช้สิทธิ 82% ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมด ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศเครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง อาหารปรุงแต่ง รถจักรยานยนต์ เลนส์แว่นตา ส่วนประกอบยานยนต์ แผนวงจรไฟฟ้า ผลไม้ปรุงแต่ง และหม้อแปลงไฟฟ้า ส่วนสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป มีสัดส่วน 18% สินค้าที่ใช้สิทธิสูง เช่น เครื่องดื่มอื่นๆ อาหารแปรรูป ผลไม้แปรรูป ซอสปรุงรส เส้นก๋วยเตี๋ยว และขนมทำจากน้ำตาล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กรมฯ ขอแนะนำผู้ผลิตที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ไทยมี FTA หรือส่งออกไปยังประเทศที่ให้สิทธิ GSP กับไทย ขอให้ตรวจสอบก่อนว่าสินค้าที่ตัวเองผลิตและส่งออกนั้นได้รับสิทธิพิเศษภายใต้ FTA หรือ GSP หรือไม่ ถ้าได้ ก็ควรที่จะขอใช้สิทธิประโยชน์ เพื่อลดต้นทุนและสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ เมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง ที่ไม่ได้ลดหย่อนภาษีภายใต้ FTA หรือ GSP