“Digitalization” เมกะเทรนด์ปี 65 เปลี่ยนโลก”ธุรกิจ-การศึกษา”เต็มรูปแบบ

20 ม.ค. 2565 | 04:00 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2565 | 13:09 น.

จับตาเมกะเทรนด์ปี 65 จากบทวิเคราะห์ของ คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์  ฉายภาพปรากฏการณ์ ภาคธุรกิจ การศึกษา และสังคม ต้องปรับตัวสู่การเปลี่ยนผ่านโลกใบนี้ไปสู่ความท้าทายใหม่ ๆ

รศ.ดร.ปีเตอร์ รักธรรม รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศน์สัมพันธ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  เมื่อพูดถึงคำว่า Digitalization อาจจะขยายความไปถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ในยุคธุรกิจดิจิทัล ก็คือ

  1. สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
  2. โทรศัพท์มือถือ (Smart Phone)
  3. การ วิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
  4. เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud Computing)
  5. อินเตอร์เน็ตของสรรพ สิ่งหรือไอโอที (Internet of Things; IoT) หรือที่เรียกย่อกันทั่วไปว่า SMACI  

“บริษัทที่ให้บริการ สื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกอย่างเฟซบุ๊ค (Facebook) ก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นเมต้า (Meta)เพื่อเปลี่ยนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการใช้งานการอย่างแพร่หลายผ่านโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน ให้กลายไปเสมือนโลกคู่ขนาน (Metaverse) กับชีวิตจริงโดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีเสมือนจริง (VR/AR) ในขณะที่เฟซบุ๊คกำลังขับเคลื่อนโลกไปสู่ Metaverse นั้น เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นวิทยาการข้อมูล คลาวด์ และไอโอที ก็ได้รับการยอมรับและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น”

รศ.ดร.ปีเตอร์ รักธรรม รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศน์สัมพันธ์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รศ.ดร.ปีเตอร์ กล่าวต่อว่าจะเห็นว่าปัจจุบันทั้งในภาคธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ที่เริ่มเห็นความสำคัญของการมีข้อมูล (Data) และศักยภาพในการวิเคราะห์(Analytics) ในข้อมูลที่มีอยู่ พฤติกรรมการจัดเก็บข้อมูลทั้งในส่วนขององค์กรและส่วนบุคคล เริ่มหันมาใช้บริการคลาวด์ กันมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันที่เพิ่มมากขึ้น และความสะดวกรวดเร็วในการเชื่อมโยงกับบริการอื่น ๆ ที่มีให้บริการในอินเตอร์เน็ต

“ปัจจุบันเทคโนโลยีไอโอทีเริ่มถูกนำมาใช้งานในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น ผ่านผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์พกติดตัว ฯลฯ ซึ่งมีมากขึ้นจากเดิมที่แค่ถูกใช้ภาคธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้แพร่กระจายไปสู่ทุกภาคส่วนในสังคม จนถึงขั้นทำให้คนเหล่านั้นเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต นำไปสู่การเกิดธุรกิจใหม่ และทำให้ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันนั้นหายไป” 

รศ.ดร.ปีเตอร์ ย้ำด้วยว่านอกจากจะทำให้มีเทคโนโลยีมาใช้งานได้ง่ายแล้ว ยังทำให้มีการแพร่กระจายการใช้งานในสังคมได้กว้างมากยิ่งขั้นปรากฏการณ์ Digitalization นี้เป็นแรงผลักดันที่มีส่วนสำคัญในเปลี่ยนผ่านโลกใบนี้ไปสู่ความท้าทายใหม่ ๆ ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าในด้านการศึกษา ภาคธุรกิจ และสังคม

 

สำหรับ Digitalization ในภาคการศึกษา อ.ดร.วินัย นาดี รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ภาคการศึกษานั้นได้รับโจทย์สำคัญ ในฐานะที่เป็นแกนหลักในการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่เพื่อให้มีทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ รวมไปถึงพัฒนาองค์ความรู้เดิมให้มีความผสมผสานกับเทคโนโลยีดังที่กล่าวมาในตอนต้น จะเห็นได้ว่าวิชาในสายวิทยาการข้อมูล (Data science) นั้นได้รับความนิยม และถูกนำไปผนวกเข้ากับสาขาวิชาเดิมกันอย่างแพร่หลาย ทักษะด้านการเขียนโปรแกรม (Coding) ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ก็ได้รับความสนใจ มีการให้คนรุ่นใหม่เริ่มสัมผัสและศึกษากันตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

ในส่วนของรูปแบบการเรียนสมัยใหม่ สถานการณ์การโรคระบาดโควิด 19 นั้นเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ภาคการศึกษามีความ Digitalization อย่างก้าวกระโดด ด้วยพื้นฐานโครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่มีให้บริการมีความเร็วเพียงพอและแพลตฟอร์มที่ให้บริการเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ที่ภาคการศึกษามีความจำเป็นต้องใช้นั้น มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อ.ดร.วินัย นาดี รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ ณ วันนี้ เรามีแพลตฟอร์มที่ช่วยในการจัดการห้องเรียน การประชุมออนไลน์ ระบบการจัดสอบ ฯลฯ ในเมื่อเรามีการใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าว ในขณะที่ภัยโรคระบาดผ่านพ้นไป สิ่งที่ยังต้องคอยดูต่อไปก็คงเป็นเพียงว่า ภาคการศึกษาจะเดินต่อไปข้างหน้ากับเทคโนโลยีที่เราเรียนรู้ ทักษะที่เราฝึกฝน และประสบการณ์จากการถูกบังคับให้เชื่อมต่อกับโลกภายนอกในบริบทของกิจกรรมด้านการศึกษาผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ดังนั้นโลกอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงมีโอกาสที่ปรัชญาและการเรียนรู้ทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ในชั้นเรียนนั้น จะถูกแทนที่ด้วยการเชื่อมต่อผ่านเทคโนโลยีแทน”

ส่วนในภาคธุรกิจจัดเป็นผู้บุกเบิกในเรื่อง Digitalization อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้สร้างนวัตกรรม (Innovators) หรือผู้ที่นำเทคโนโลยีมาสร้างเป็นสินค้าหรือบริการ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าของแต่ละภาคธุรกิจ หากมองเรื่อง Digitalization ในธุรกิจ อาจจะต้องมีการวัดระดับความดิจิทัลกันก่อน  อย่างเช่น ธุรกิจโรงภาพยนตร์และธุรกิจออนไลน์สตรีมมิ่งในยุคเริ่มแรกก็มีวิวัฒนาการในด้าน Digitalization อยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจองรอบเข้าชมผ่านช่องทางออนไลน์ เพียงแต่ว่าในขั้นตอนท้ายสุดนั้นลูกค้าจะต้องเข้ามาใช้บริการในโรงภาพยนตร์ ในขณะที่บริการออนไลน์สตรีมมิ่งนั้น ไม่มีส่วนไหนเลยที่ลูกค้าจ าเป็นจะต้องพึ่งพาบริการทางกายภาพจากผู้ให้บริการ

ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่แทบจะทุกสิ่งอย่างในโลกนี้มีความเชื่อมโยงถึงกันผ่านเทคโนโลยี หาก อยู่ในความครอบครองขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น ย่อมทำให้เกิดความหวาดกลัว กลไกต่าง ๆ ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการที่จะกำกับดูแล ไม่ให้เทคโนโลยีหรือองค์กรธุรกิจเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านั้น มีอิทธิพลมากเกินไป อีกทั้งยังเพิ่มความอุ่นใจให้กับพลเมืองโลกว่าข้อมูลความเป็นส่วนตัวของพลเมืองแต่ละคนนั้นจะได้รับการปกป้องดูแล หากมองอีกนัยหนึ่ง ก็อาจจะเป็นการคานอำนาจกันระหว่างเจ้าของนวัตกรรมและผู้บริโภค 

จะเห็นได้ว่า Digitalization นั้นเชื่อมโยงกับชีวิตเราในทุกมิติ ตั้งแต่ของใช้ประจำวัน ไปถึงความเชื่อมโยงของผู้คน ภาคธุรกิจและทุกสิ่งในยุคโลกาภิวัตน์นี้ในบริบทของ Digitalization หากมองผิวเผินจะเป็นเพียงการประดิษฐ์ นำไปใช้ แบ่งกันใช่ หรือแม้กระทั่งสร้างกติกาการใช้ร่วมกัน แต่ไม่ควรลืมสิ่งที่สำคัญกว่า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสังคมที่ดี ธุรกิจที่ดูแลสิ่งแวดล้อม และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ครอบครัวที่มีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น