เอกชนมั่นใจ! ปีนี้ไทยส่งออกข้าวได้ 11 ล้านตัน เป้าปีหน้าลดลงเหลือ 10 ล้านตัน สารพัดปัจจัยเสี่ยงรุม ทั้งผลผลิตข้าวหอมมะลิมีน้อย ราคาพุ่งสูง คู่ค้าชะลอซื้อ จีนระบายสต๊อกแย่งตลาดข้าวเก่าในแอฟริกา
นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยว่า การส่งออกข้าวไทยในปี 2561 สมาคมคาดจะมีปริมาณส่งออกที่ 11 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 5,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 177,000 ล้านบาท และในปี 2562 ตั้งเป้าส่งออกไว้ที่ 10 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ไทยส่งออกข้าวได้แล้ว 8.12 ล้านตัน ปริมาณลดลง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนด้านมูลค่าส่งออกได้ที่ 4,101 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 14% และในรูปเงินบาทที่ 130,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
[caption id="attachment_345103" align="aligncenter" width="503"]
เจริญ เหล่าธรรมทัศน์[/caption]
สถานการณ์ตลาดข้าวไทยในช่วงปี 2560-2661 พบว่า ตลาดสำคัญ ๆ มีปริมาณส่งออกข้าวลดลง เช่น ตลาดแอฟริกา ที่เคยเป็นสัดส่วนการส่งออกจาก 53% ลดลงเหลือ 47% เนื่องจากตลาดแอฟริกานิยมบริโภคข้าวเก่า และขณะนี้ จีนแย่งตลาดไทยไปค่อนข้างมาก แต่ขณะเดียวกัน ตลาดเอเชียปีนี้ ไทยส่งออกไปตลาดเอเชียได้เพิ่มขึ้น ทำให้สัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 38% จากเดิม 29% เนื่องจากหลายประเทศในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีการนำเข้าข้าวในปีนี้ค่อนข้างปริมาณมาก ส่วนตลาดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตะวันออกกลาง ยุโรป ออสเตรเลีย ปริมาณนำเข้าไม่เปลี่ยนแปลงมาก
สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อการส่งออกข้าวไทยในปีหน้า ปัจจัยบวก เช่น ประเทศผู้นำเข้าที่เป็นคู่ค้าของไทยมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งประเทศในแอฟริกา คาดยังนำเข้าต่อเนื่อง ขณะที่ รัฐบาลไทยยังมีสัญญาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่จะต้องมีการเจรจาเพื่อส่งมอบให้ครบตามที่ตกลงไว้ 1 ล้านตัน
นอกจากนี้ จากที่รัฐบาลไทยได้ระบายข้าวในสต๊อกออกมาหมดแล้ว ทำให้ตลาดเข้าสู่ภาวะปกติ และผู้ซื้อตื่นตัวที่จะนำเข้าข้าวเพื่อเก็บสำรองในประเทศของตนมากขึ้น ทั้งนี้ มีการพยากรณ์เกี่ยวกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ่ในบางประเทศของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เกิดสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวของประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ เช่น จีน อินเดีย ขณะที่ ได้เกิดสภาพอากาศที่แปรปรวนในหลายภูมิภาค ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการผลิตธัญพืชชนิดอื่น ๆ ด้วย
ด้านปัจจัยลบ ได้แก่ อุปทานข้าวหอมมะลิในตลาดมีจำกัด ทำให้ราคายังคงอยู่ในระดับสูง (ปัจจุบันราคาส่งออกเอฟโอบี เฉลี่ยที่ 1,160 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน) ส่งผลให้ผู้ซื้อชะลอการซื้อและหันไปซื้อข้าวหอมจากแหล่งอื่น รวมถึงขาดแคลนชนิดข้าวที่เป็นที่นิยมของประเทศผู้ซื้อ เช่น ข้าวพื้นนิ่ม ขณะที่ ประเทศคู่แข่งมีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตรงตามความต้องการของตลาดและมีราคาที่ประเทศผู้ซื้อยอมรับได้ ส่วนจีนยังคงมีสต๊อกข้าวปริมาณมากและมีการระบายข้าวเก่าในสต๊อกออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้าวบางส่วนถูกส่งออกไปยังภูมิภาคแอฟริกา ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาด และประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญมีการปรับนโยบายในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งผลให้การแข่งขันในตลาดมีมากขึ้น