การท่าเรือผนึกการทางพิเศษฯ เร่งศึกษาเชื่อมทางด่วน "บางนา-อาจณรงค์"

21 พ.ย. 2561 | 08:56 น.
อัพเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2561 | 15:57 น.
การท่าเรือฯ ผนึกการทางพิเศษฯ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงศึกษาเพื่อก่อสร้างทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางด่วนบางนา-อาจณรงค์ (S1) ปลดล็อกข้อจำกัดพื้นที่ปิดล้อมผืนใหญ่ ระยะทาง 2 กม. คาดใช้งบลงทุนร่วมกัน 1,500 ล้านบาท เปิดใช้บริการปี 67

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณงค์ (S1) ระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อเป็นความร่วมมือในการสนับสนุนนโยบายเร่งระบายรถบรรทุกให้สามารถมุ่งหน้าออกไปยัง 2 เส้นทาง คือ ทางพิเศษฉลองรัช สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมภาคกลาง และทางพิเศษบูรพาวิถี สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่จะเชื่อมท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังเข้ากับพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น


S__5595207

นอกจากนั้น ยังมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาความแออัดของการจราจรบริเวณท่าเรือ ลดระยะเวลาการติดเวลาของรถบรรทุกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้สามารถระบายรถบรรทุกขึ้น-ลงทางด่วนได้โดยตรง และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับบรรทุกได้เป็นปริมาณมาก

"ทางเชื่อมต่อฯ ดังกล่าวจะยกระดับไปตามแนวเกาะกลางของถนนภายใน ทกท. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2565 และเปิดใช้ในปีงบประมาณ 2567 โดยเรื่องนี้กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายไว้แล้ว นอกจากนั้นยังมีส่วนปลายของเส้นทางเอกมัย-รามอินทรา เชื่อมเข้าไปในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ และอีกส่วนหนึ่งเชื่อมส่วนปลายของเส้นทางบูรพาวิถีไปยังชลบุรี เชื่อมยังถึงบายพาสชลบุรี โครงการนี้มีความสำคัญเนื่องจากจะช่วยยกระดับศักยภาพพื้นที่การท่าเรือเพิ่มมากขึ้น จะช่วยปลดล็อกขีดจำกัดของการพัฒนาได้อย่างมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ปิดล้อมผืนใหญ่สามารถเดินทางและขนส่งสินค้าไปภาคเหนือและภาคตะวันออกได้รวดเร็วมากขึ้น"


S__5595208

สำหรับช่วง S1 จะดำเนินการได้ก่อน แม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร แต่ก็จะช่วยให้รถบรรทุกส่วนหนึ่งจะเข้า-ออกท่าเรือกรุงเทพ สามารถไปใช้ทางด่วน S1 ได้เลย ลดความแออัดของสภาพการจราจรในพื้นที่ท่าเรือและโดยรอบลงไปได้อย่างมาก จะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบย่านคลองเตยได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ประการสำคัญท่าเรือกรุงเทพยังมีข้อจำกัดในการตั้งกองตู้สินค้าได้เพียง 1.5 ล้านตู้ เนื่องจากกระทบสภาพจราจร เมื่อเปิดใช้ทางเชื่อมโครงการนี้จึงเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดนี้ลงไปได้อีกทางหนึ่งด้วย จะเกิดประโยชน์ต่อการท่าเรือ ประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศไทย มีระบบคมนาคมที่ไร้รอยต่อเพิ่มมากขึ้น และยังจะเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนกรุงเทพฯ และประชาชนไทยในปี 2562 นี้อีกด้วย

ด้าน นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่าและประธานกรรมการ กทท. กล่าวว่า มอบหมายให้ กทพ. เป็นผู้ออกแบบรายละเอียด ใช้งบออกแบบร่วมกัน ส่วนงบก่อสร้างประมาณ 1,500 ล้านบาท หากใช้พื้นที่หน่วยใดหน่วยงานนั้นเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ การศึกษาออกแบบทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) รวมระยะทางประมาณ 1.8 กิโลเมตร โดยการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อจะเชื่อมโยงท่าเรือกรุงเทพเข้ากับโครงข่ายทางพิเศษ เพื่อเร่งระบายรถบรรทุกให้สามารถมุ่งหน้าออกไปยัง 2 เส้นทาง คือ ทางพิเศษฉลองรัช สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลาง และทางพิเศษบูรพาวิถี สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งจะเชื่อมโยงท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง เข้ากับพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ตามนโยบายการพัฒนาของรัฐบาล ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ พร้อมอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือที่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ รวมถึงลดระยะเวลาการติดเวลาของรถบรรทุกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดปัญหาความแออัดของการจราจรบริเวณท่าเรือ โดยจะสามารถระบายรถบรรทุกขึ้นสู่ทางพิเศษได้โดยตรงและมีขีดความสามารถในการรองรับบรรทุกได้เป็นปริมาณมาก อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความสุขและความปลอดภัยต่อผู้ใช้เส้นทางอีกด้วย


S__5595209

"ค่าผ่านทางยังใช้ตามอัตราที่ กทพ. กำหนดใช้ในปัจจุบัน การศึกษาออกแบบจะเห็นความชัดเจนในหลายเรื่องว่าจะมีด่านจัดเก็บค่าผ่านทางจุดใด พื้นที่เวนคืนเท่าไหร่ วัตถุประสงค์หลักต้องการให้รถบรรทุกสามารถเข้า-ออกท่าเรือได้อย่างสะดวกรวดเร็วขึ้น โดยตามแผนระยะต่อไปจะมีการก่อสร้างในช่วงตั้งแต่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครให้เชื่อมไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นพื้นที่อีอีซีได้อย่างสะดวกอีกด้วย"

ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รูปแบบจะเป็นความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน โดย กทพ. จะออกแบบรายละเอียด ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งเงินลงทุนจะใช้จาก 2 หน่วยงาน คือ กทพ. และ กทท.

"พื้นที่ของ กทท. ประมาณ 2,300 ไร่ ออกแบบมาตั้งแต่ปี 2494 รูปแบบการพัฒนาจึงจะต้องปรับเปลี่ยนไป กายภาพของการท่าเรือจึงมาจาก 3 เรื่อง คือ การบรรจุสินค้าเข้าตู้ การเปิดตู้เพื่อเอาสินค้าออกจากตู้ และการบริหารจัดการสินค้าของท่าเรือ สำหรับการพัฒนาในครั้งนี้การก่อสร้างหากอยู่ในพื้นที่ของหน่วยใด ๆ นั้น จะเป็นผู้รับผิดชอบ กระบวนการแล้วเสร็จในปี 2562 เพื่อที่จะให้เริ่มก่อสร้างและเสร็จให้เปิดใช้บริการในปี 2567 ซึ่งจะต้องรอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและออกแบบรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน โครงการนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้สามารถรองรับรถบรรทุกได้มากขึ้น เพิ่มศักยภาพการขนส่งทางน้ำและทางบกให้ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นประตูการค้าสำคัญของไทย พัฒนาระบบเศรษฐกิจนำเข้า-ส่งออกของประเทศให้เกิดประสิทธิภาพ"


S__5595210

ในส่วน นายฉลองรัฐ กุลสนั่น รองประธานสหภาพการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต่อกรณีดังกล่าวอยากให้แสดงความชัดเจนด้านการกำหนดเวลาขึ้น-ลงทางด่วน ว่า มีติดเวลาของรถบรรทุกหรือไม่ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้เส้นทางและผู้ประกอบการรถบรรทุกและผู้ประกอบการอื่น ๆ ในการท่าเรือ โดยควรสามารถใช้เส้นทางได้ตลอดเวลา

นอกจากนั้น ยังได้ยื่นหนังสือให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วน อาทิ การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 การพัฒนาคลังสินค้าส่งออก และนำเข้าโครงการไอซีดี จ.ขอนแก่น และเรื่องการสรรหาผู้อำนวยการ กทท.คนใหม่ เพื่อมิให้การบริหารองค์กรเกิดความล่าช้าอันเป็นผลเสียต่อ กทท. เพื่อให้ได้ ผอ.กทท.คนใหม่ โดยเร็ว เนื่องจากมีการพิจารณาผู้ที่ผ่านการแสดงวิสัยทัศน์ จำนวน 2 คน คือ นายปฏิมา จีนะแพทย์ และเรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร และจะพิจารณาทั้ง 2 คน ในวันที่ 29 พ.ย. นี้


595959859