คณะกรรมการสมาร์ทซิตี้กทม. หนุนเร่งพัฒนาขนส่งมวลชนเชื่อมย่านซีบีดี

05 ธ.ค. 2561 | 08:02 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2561 | 15:02 น.
สภากทม.บูรณาการภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ เร่งกำหนด 17 พื้นที่พัฒนาสมาร์ทซิตี้ นำร่องเขตชั้นในกรุงเทพมหานครสนับสนุนความเป็นเมืองอัจฉริยะ หนุนเร่งลงทุนโครงข่ายขนส่งมวลชนรองตามเกณฑ์ smart growth ตามตัวชี้วัดความสามารถการเชื่อมต่อของ smart mobility

8F81E64F-2288-434B-BC09-2BC591B42BFE
พล.ต.ต.ประสพโชค พร้อมมูล ประธานคณะกรรมการ smart city ของสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการประชุมครั้งที่ 4/2561 มีผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยเบื้องต้นมีแผนพัฒนา 17 พื้นที่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ประกอบด้วยจตุจักร บางซื่อ ดุสิต พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท วัฒนา คลองเตย สาทร บางรัก คลองสาน ธนบุรี บางกอกน้อย บางกอกใหญ่
“17 พื้นที่จะพัฒนารูปแบบคลัสเตอร์นำร่อง อาทิ บางกอกน้อย จะเน้นพื้นที่ย่านวัดอรุณราชวรารามฯ คลองสานจะเน้นพื้นที่ไอค่อนสยาม พระราม4 วิถีเมือง ราชประสงค์โมเดล ประตูน้ำโมเดลจะได้รับการพัฒนาทั้งหมด เกาะรัตนโกสินทร์ ปากคลองตลาด ถนนข้าวสาร เยาวราช หัวลำโพง ทองหล่อ คลองเตย เน้นทั้งการสร้างศักยภาพพื้นที่ริมน้ำจากคลองสานถึงวัดอรุณฯ พัฒนาด้านการท่องเที่ยว หรือสตรีทฟู้ด ร้านค้าชุมชน การจราจร จะต้องสอดคล้องกันทั้งหมด เอาพื้นที่ตั้งเป็นเกณฑ์แล้วใส่ฟังก์ชั่นเข้าไป อาทิ คมนาคม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เน้นบูรณาการร่วมทั้งภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ โดยจะช่วยยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแต่ละพื้นที่อีกด้วย”

3656E058-ED6A-40FF-B621-37217C89EDA2 ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะกรรมการ คณะกรรมการ smart city ของสภากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ 4 นี้มีวาระสำคัญ ๆ ได้แก่ การรายงานภารกิจของสำนักการแพทย์และสำนักอนามัยที่เกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายการพัฒนา smart city พร้อมด้วยการรายงานแผนที่ 17 ย่านพื้นที่โดยผู้แทนจากสำนักผังเมือง ตามนโยบายของสภากรุงเทพมหานครในการยกระดับการพัฒนาย่านดังกล่าวให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งมีเขตปทุมวันเป็นพื้นที่ใจกลาง

โดยสมาคมการผังเมืองไทยนำเสนอภาพรวมการพัฒนา smart city เขตชั้นในกรุงเทพมหานครสนับสนุนความเป็นเมืองอัจฉริยะ ส่วนสาระสำคัญที่ได้เสนอนั้น เห็นว่ากรุงเทพมหานครมีศักยภาพระดับสูงในการพัฒนาเนื่องจากหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครมีฐานข้อมูลและมีทรัพยากรที่พรั่งพร้อม หากได้รับการบูรณาการและกำหนดทิศทางการพัฒนาให้มีความเหมาะสม กรุงเทพมหานครจะสามารถเดินเข้าสู่เป้าการเป็นเมืองอัจฉริยะในบางสาขาได้

“สาขาที่มีศักยภาพสูงสุดได้แก่ สาขา smart mobility และสาขา smart economy เนื่องจากช่วงผ่านมา รัฐบาลและกรุงเทพมหานครได้ทุ่มเทงบประมาณก้อนใหญ่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งทางรางไปอย่างมาก จนกล่าวได้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าความยาวของรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีความยาวมากที่สุดในกลุ่มประเทศเอเซียตะวันออกเฉียงใต้”

นายฐาปนากล่าวอีกว่าหากกรุงเทพมหานครได้ลงทุนโครงข่ายขนส่งมวลชนรองตามเกณฑ์ smart growth และตามตัวชี้วัดความสามารถการเชื่อมต่อของ smart mobility แล้ว โครงข่ายดังกล่าวจะเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิวัติการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างขนานใหญ่ และไม่ใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะระบบการชำระเงินค่าเดินทางและระบบการบริหารจัดการโครงข่ายการเดินทางของผู้ประกอบการขนส่งมวลชนและประชาชาชนผู้ใช้บริการเท่านั้น แต่เทคโนโลยีดิจิทัลจะกระจายข้ามสาขาไปยังกลุ่มงานบริหารจัดการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (smart environment) การจัดการความปลอดภัย (smart safety) และที่สำคัญเทคโนโลยีดิจิทัลจะแผ่ขยายเข้าไปสู่การวางแผนด้านเศรษฐกิจ และการวางผังเมือง ซึ่งโดยภาพรวมจะเกิดผลดีอย่างยิ่งต่อการยกระดับความสามารถการแข่งขันของประเทศ”

นอกจากนั้น ยังได้เสนอให้นำร่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถกระตุ้นการพัฒนาสภาพแวดล้อมและระบบบริหารจัดการในภาคธุรกิจสาขาการค้าปลีก การท่องเที่ยว การโรงแรม การบริการ อาคารสำนักงาน และการอยู่อาศัยให้ชาญฉลาดได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากเขตชั้นในของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน ได้แก่ศูนย์เศรษฐกิจราชประสงค์ สีลม วิทยุ สยามสแคว์ ประตูน้ำ หรือแม้แต่ศูนย์เศรษฐกิจตามแนวถนนสุขุมวิท ต่างมีความหนาแน่นของกิจกรรมเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก การพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ชั้นในจึงมีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการ รวมทั้งสอดรับกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาพื้นที่โดยภาพรวม

โดยข้อเสนอดังกล่าว กรุงเทพมหานครควรแบ่งขั้นตอนการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรก ให้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานและองค์กรธรุกิจภายในพื้นที่และพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อระดมทรัพยากรทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งอาจมอบหมายให้สมาคมวิสาหกิจการค้าราชประสงค์รับผิดชอบในการประสานงานส่วนภาคเอกชนในสาขาการค้าปลีก การโรงแรม สำนักงานและการพัฒนาที่อยู่อาศัย มอบผู้แทนรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิท โคเปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) หรือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) รับผิดชอบการออกแบบพัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะ รวมทั้งมอบสำนักผังเมืองรับผิดชอบประสานในส่วนของภาคราชการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)

ส่วนระยะที่สอง เป็นการพัฒนาข้อมูลและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลตามสาขาที่หน่วยงานมีความเชี่ยวชาญ เน้นความร่วมมือของภาคเอกชน โดยขั้นตอนนี้อาจขอการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันการศึกษาร่วมมือในการสังเคราะห์ข้อมูล สรุปพัฒนาการและประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการพื้นที่เศรษฐกิจ ส่วนระยะที่สาม การปฏิบัติการร่วมเพื่อนำเทคโลโลยีดิจิทัลทั้งด้าน mobility, economy และ safety และสาขาอื่นเข้าสู่การปฏิบัติ และระยะที่ 4 เป็นการประเมินผลและปรับปรุงแก้ไข

สำหรับสาขา mobility ควรเริ่มที่การลงทุนระบบขนส่งมวลชนรอง การพัฒนาถนนสีเขียวและย่านแห่งการเดิน การพัฒนาระบบการเข้าถึงสถานี (accessibility) การจัดการที่จอดรถ  การจัดทำ smart codes ด้าน road pricing  พร้อมมาตรการจำกัดปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคล การออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ ส่วนสาขา economy ให้เริ่มที่งานการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว สถานที่สาธารณะ การค้าปลีก และการบริการ

“ตามแผนจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี พื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครจะเริ่มเปลี่ยนแปลง ซึ่งตัวชี้วัดในสาขา mobility ได้แก่ การลดลงของการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การลดเวลาการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าและเรือ ความปลอดภัยของคนเดิน การลดลงของอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วนสาขา economy ใช้ตัวชี้วัดด้านการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการค้าปลีก ร้านอาหาร อัตราการเข้าพักโรงแรม เป็นต้น”

e-book-1-503x62-7-1-503x62