ดีเดย์ 16 ม.ค. เปิดซองเทคนิค "รถไฟไทย-จีน" จับตา "ซีวิล เอ็นจิเนียริ่ง" คว้างานค่า 3 พันล้าน

12 ม.ค. 2562 | 03:59 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2562 | 20:16 น.
ดีเดย์ 16 ม.ค. เปิดซองเทคนิค "รถไฟไทย-จีน" ระยะทาง 11 กม. จับตากลุ่ม 'ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง' คว้างานมูลค่า 3 พันล้านบาท คาดลงนามสัญญาไม่เกิน ก.พ. นี้ แถมยังได้ลุ้นต่อส่วนที่เหลือ 12 ตอน อีก 238 กม. วงเงิน 1.1 แสนล้าน ช่วงปลาย ม.ค. นี้



074AA358-A6F6-4625-9E79-8DBE21325F8F
แหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงรถไฟไทย-จีน เฟสที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา งานสัญญาที่ 2-1 (งานโยธาสำหรับช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร) ราคากลาง 3,350 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ที่กรมบัญชีกลางกำหนดแล้วเสร็จไป เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะได้ผู้เสนอราคาต่ำสุด แต่ตามกระบวนการของการประมูล e-Bidding ยังไม่สามารถประกาศผลในทันที ต้องเปิดซองคุณสมบัติก่อน ซึ่ง ร.ฟ.ท. ได้เปิดซองคุณสมบัติไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2561 ซึ่งผู้ยื่นที่ผ่านคุณสมบัติจะเปิดซองเทคนิค หลังจากตรวจสอบเทคนิคแล้ว จึงจะเปิดซองราคา จากนั้นจะประกาศผู้เสนอราคาตำ่สุดเป็นผู้ชนะการประมูล

โดยในเบื้องต้นพบว่า มีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติครบทั้ง 4 ราย คือ 1.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ 2.บจ.ซีวิล เอนจิเนียริ่ง 3.หจก.บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง 4.กลุ่ม KTE จอยต์เวนเจอร์ โดยผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ บจ.ซีวิล เอนจิเนียริ่ง ซึ่งเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 7% (ประมาณ 3,100 กว่าล้านบาท) และจะมีการพิจารณาด้านเทคนิคในวันที่ 16 ม.ค. 2562 นี้ ก่อนที่จะประกาศผู้ผ่านการเสนอราคาอย่างเป็นทางการ และกำหนดการลงนามสัญญาตามกระบวนการนี้ภายในเดือน ม.ค. - ก.พ. 2562


4198EA47-BCCB-4F2F-B59C-EE2379ECAACE

ทั้งนี้ การประมูลก่อสร้างรถไฟไทย-จีน ตอนที่ 2 ระยะทาง 11 กิโลเมตร และตอนที่ 3, 4 อีก 12 สัญญา รวมระยะทางที่เหลือ 238 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1.1 แสนล้านบาทนั้น ในเดือน ม.ค. 2562 จะประกาศประมูลจำนวน 5 สัญญา และเดือน ก.พ. 2562 ประมูลอีก 7 สัญญาทีเหลือ

สำหรับรูปแบบการก่อสร้าง ประกอบด้วย 1.ทางรถไฟระยะทาง 11 กม. แบ่งเป็น การก่อสร้างเสริมคันทางรถไฟระดับดิน ระยะทาง 7 กม. โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง 4 กม. งานก่อสร้างทางลอดท่อเหลี่ยม, งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงทางย่านสถานีโคกสะอาด และงานก่อสร้างชานชาลาชั่วคราวที่สถานีโคกสะอาด 2.ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Station Yard) 1 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์ควบคุมการเดินรถ หอพัก ที่ล้างรถ เป็นต้น 3.งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายราง ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ และงานอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับโครงการ

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 179,412 ล้านบาท โดยกรอบวงเงินของช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. เดิมวงเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท ขณะที่ ราคากลางประกาศอยู่ที่ 3,350 ล้านบาท จึงเป็นการปรับลดลงเกือบ 30%

นอกจากนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 26 เมื่อเดือน พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ยังได้มีข้อสรุปร่วมกันใน 6 ประเด็น โดยเฉพาะกรณีเห็นชอบร่วมกันในหลักการของสัญญา 2.3 (สัญญาการวางรางและระบบการเดินรถ ระบบอาณัติสัญญาณ พร้อมขบวนรถ) เพื่อแก้ไขประเด็นที่คงค้างให้สามารถลงนามสัญญา 2.3 ได้ภายในปลายเดือน ม.ค. 2562 ที่กำหนดลงนามร่วมกันในการประชุม ครั้งที่ 27 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

สำหรับแผนการก่อสร้างเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางกว่า 300 กม. นั้น โดยหลักการฝ่ายไทยจะออกแบบรายละเอียดเอง ส่วนฝ่ายจีนเป็นที่ปรึกษา เนื่องจากใช้เทคโนโลยีจีนและมีส่วนเชื่อมต่อกับ สปป.ลาว ไปยังจีน ซึ่งตั้งเป้าจะศึกษาออกแบบให้เสร็จอย่างเร็วในปีนี้ และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 โดยเห็นชอบให้ฝ่ายไทยทบทวนผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียดใช้งบประมาณ จำนวน 1,200 ล้านบาท ทั้งนี้ ฝ่ายจีนต้องการเร่งเฟส 2 ให้ทันกับเฟสแรก เพื่อเปิดเดินรถพร้อมกันตลอดสายนั่นเอง

"ในส่วนจุดเชื่อมต่อระหว่างไทย (หนองคาย) - สปป.ลาว (เวียงจันทน์) นั้น จากผลการหารือทวิภาคีระหว่าง รมว.คมนาคมของประเทศไทย และ รมว.โยธาธิการและการขนส่ง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2561 ที่กรุงเทพฯ ฝ่ายไทยและฝ่าย สปป.ลาว เห็นชอบให้มีการหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างไทย-จีน-ลาว ในรายละเอียดร่วมกันช่วงเดือน ม.ค. 2562 นี้"

ด้าน แหล่งข่าวในวงการรับเหมารายหนึ่ง กล่าวว่า กรณีการประมูลรถไฟไทย-จีนครั้งนี้ อยากให้ทุกฝ่ายจับตากรณีการกำหนดสเปกอุปกรณ์ที่จะใช้ในโครงการ ทั้ง ๆ ที่แจ้งว่า ใช้สินค้าไทย มาตรฐานไทย แต่ต้องผ่านสเปกเทียบเท่าจีน ยูนิตที่ใช้ของไทยใช้หน่วยตันต่อนิวตัน ส่วนจีนใช้หน่วยปอนด์ต่อนิ้ว

"สเปกนี้จีนใช้ใน สปป.ลาว มาแล้ว จึงต้องไปลงลึกในรายละเอียดข้อตกลงร่วมไทย-จีนอีกครั้ง ประการสำคัญ วิศวกรที่ปรึกษาไทยตรวจสอบเรื่องนี้ดีหรือยัง ทำไมสเปกถึงไม่กำหนดออกมาเป็นมาตรฐานของไทย (มอก.) ประการสำคัญ ผู้ผลิตวัสดุของไทยยังไม่มีการทักท้วงในเรื่องนี้ ในระยะทาง 11 กิโลเมตร จะแตกต่างกับช่วงที่กรมทางหลวงดำเนินการ ประการหนึ่งนั้น ราคาที่ฝ่ายจีนโอนงบประมาณมาให้ ร.ฟ.ท. แล้วนั้น รวมค่าวิศวกรที่ปรึกษาแล้วหรือไม่ สภาวิศวกรที่ปรึกษาจี้ติดในเรื่องนี้หรือยัง เนื่องจากกำหนดว่าจะต้องจ้างที่ปรึกษาไทยเข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบ จะตรวจสอบเฉพาะราคาเท่านั้นหรือไม่ จะต้านแรงผลักดันของรัฐบาลและในฐานะพี่ใหญ่ของจีนได้หรือไม่ ซึ่งในอนาคตมาตรฐานไม่ควรจะกำหนดออกมาแบบนี้ อีกทั้งข้อตกลงทั้งหมดนี้ควรจะผ่านการพิจารณาของวิศวกรที่ปรึกษาไทย ไม่ใช่ผ่านการรับรองเฉพาะของจีนเท่านั้น เพราะในครั้งนี้ใช้งบประมาณของไทยทั้งโครงการ"

Than1