ลดหนี้ สร้างรายได้เพิ่ม ... "รฟท." ปรับโฉมสู่อนาคตใหม่

12 ก.พ. 2562 | 05:43 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2562 | 19:25 น.
การรถไฟแห่งประเทศ ไทย (รฟท.) ถือเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจที่เปิดดำเนินการมานาน 122 ปี และอยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟู เพื่อรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้สอดคล้องกับการเร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าของรัฐบาล เพื่อยกระดับและมุ่งให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุด ควบคู่ไปกับการเร่งปลดภาระหนี้และการหารายได้ป้อนองค์กรให้กลับมาสู่ความมั่นคงอย่างยั่งยืน

 

[caption id="attachment_386339" align="aligncenter" width="309"] วรวุฒิ มาลา วรวุฒิ มาลา[/caption]

ต่อความชัดเจนในเรื่องนี้ นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า รฟท. เร่งปรับโฉมองค์กรใหม่มุ่งบริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียน ปี 2570 จัดงาน "Change to the Future" ครั้งที่ 1/2562 ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอนาคตใหม่รถไฟไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนองค์กรตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนฟื้นฟูกิจการฯ แก่พนักงาน ในการก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570


➣ เร่งเคลียร์หนี้สะสมแสนล้าน

ขณะที่ การดำเนินการตามผลประกอบการจากการประมาณการปี 2562 พบว่า ร.ฟ.ท. มีหนี้และขาดทุนสะสมกว่า 1.4 แสนล้านบาท และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงการเพิ่มรายได้และค่าใช้จ่ายจะส่งผลให้ในปี 2566 จะมีหนี้และขาดทุนสะสมเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้และสวัสดิการของพนักงานรถไฟ


tp12-3443-2

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งเพิ่มและพัฒนาบุคลากรให้ทันเทคโนโลยีระบบรางที่จะเข้ามา โดยจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการทำงานระบบรถไฟรูปแบบใหม่ที่จะถูกนำมาใช้ในประเทศ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการใช้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางจำนวนมาก


➣ เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่

สำหรับแผนการดำเนินงานของ รฟท. นั้น ที่ผ่านมายอมรับว่า ไม่สามารถแข่งขันกับตลาดสายการบินต้นทุนตํ่า (Low Cost) ได้ แต่ในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้าจึงมุ่งเป้าแข่งขันกับตลาดรถตู้ระหว่างจังหวัด ในระยะทาง 200-300 กิโลเมตรมากกว่า โดยเฉพาะจังหวัดที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก เช่น นครราชสีมา, พิษณุโลก, ชุมพร เป็นต้น รวมถึงในอนาคต รถไฟจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการเดินรถไฟขับเคลื่อนดีเซลรางเป็นระบบรถไฟฟ้า จึงจะทำให้มีการเดินรถได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ฝ่ายการตลาดการรถไฟฯ ในปีนี้จะเร่งเจาะกลุ่มตลาดใหม่ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และเน้นการเจาะตลาดกลุ่มทัวร์ต่าง ๆ ที่ขณะนี้ลดน้อยลง เนื่องจากมีกลุ่มตลาดรถทัวร์เป็นคู่แข่ง

ล่าสุด บอร์ด รฟท. ยังได้พิจารณาแผนการปรับกรอบอัตรากำลังและแนวทางการสรรหาพนักงานใหม่ในปีนี้อีกราว 2,000 คน และยังได้อนุมัติลงนามสัญญาให้สิทธิ์การเช่าพื้นที่แก่เอกชนอีกจำนวน 2 ราย ในเขตพื้นที่ จ.กาญจนบุรี และขอนแก่น รับรายได้กว่า 200 ล้านบาท พร้อมกับเร่งเปิดให้บริการรถไฟทางคู่ เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และเส้นทางฉะเชิงเทรา-แก่งคอย เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงที่ รฟท. กำลังก้าวสู่อนาคตใหม่ขององค์กรสู่การเปลี่ยนผ่านไปยังกิจการใหม่ที่ยั่งยืน ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟสายสีแดง รถไฟความเร็วสูง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลงต่าง ๆ มูลค่าหลายแสนล้านบาท อาทิ สถานีแม่นํ้าและสถานีกลางบางซื่อ

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์นั้นจะเสนอขอความเห็นชอบโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ ที่จะเริ่มจากแปลง A พื้นที่ 32 ไร่ วงเงินร่วมลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท คาดว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาได้ภายในเดือนนี้

"อย่างไรก็ตาม คาดการณ์รายได้ปีนี้ของ รฟท. จะอยู่ที่ 9.76 พันล้านบาท และมีรายจ่าย 1.71 หมื่นล้านบาท เมื่อมารวมกับรายจ่ายเรื่องดอกเบี้ยเงินกู้แล้ว จะมียอดขาดทุนในปีนี้รวม 2.18 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างรายได้เพิ่ม ทั้งบริการผู้โดยสาร ขนส่งสินค้า และบริการเชิงพาณิชย์รูปแบบต่าง ๆ โดยในวันนี้ รัฐบาลได้วางโครงสร้างพื้นฐานระบบรางไว้แล้ว เมื่อก่อสร้างเสร็จ พร้อมเปิดใช้แล้ว มั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาขาดทุนได้ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถหยุดขาดทุนและตัวเลขหลังหักค่าใช้จ่าย (Ebitda) กลับมาเป็นบวกอีกครั้ง หรือมีกำไรจากผลประกอบการในปี 2565-2566"

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,443 ระหว่างวันที่ 10 - 13 กุมภาพันธ์ 2562

ติดตามฐาน