กรมทรัพย์สินทางปัญญากางแผนขับเคลื่อนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ปี 62 เตรียมลงพื้นที่ผลักดันจังหวัดขึ้นทะเบียนสินค้า GI อีก 8 สินค้า ใน 7 จังหวัด พร้อมยื่นคุ้มครองในต่างประเทศอีก 5 สินค้า ในจีนและมาเลเซีย
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงแผนการขับเคลื่อนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ว่า ในปี 2562 กรมฯ มีแผนที่จะลงพื้นที่ส่งเสริมให้จังหวัดยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสินค้า GI รวม 8 สินค้า ใน 7 จังหวัด เช่น หม้อห้อมแพร่ โอ่งมังกรราชบุรี พริกไทยจันทบุรี กระเทียมศรีสะเกษ และลูกหยียะรังปัตตานี เป็นต้น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่นและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนที่ผลิตสินค้า และยังจะเร่งพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียน GI ไทยเพิ่มอีก 16 คำขอ เช่น มะม่วงยายกล่ำนนทบุรี ทุเรียนสาลิกาพังงา และกาแฟวังน้ำเขียวนครราชสีมา เป็นต้น
ทั้งนี้ กรมฯ ยังจะดำเนินการผลักดันให้สินค้า GI ไทยที่มีศักยภาพ ยื่นคำขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ โดยปีนี้จะยื่นเพิ่มอีก 5 สินค้า ใน 2 ประเทศ โดยที่จีนจำนวน 2 สินค้า ได้แก่ ทุเรียนปราจีนบุรีและมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี และมาเลเซีย จำนวน 3 สินค้า ได้แก่ ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง
นอกจากนี้ จะผลักดันให้จังหวัดจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า GI เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวม 7 สินค้า เช่น สับปะรดตราดสีทอง นิลเมืองกาญจน์ และเงาะโรงเรียนนาสาร เป็นต้น และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สินค้า GI รวม 10 สินค้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าให้เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยม
ส่วนการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI จะเดินหน้าเพิ่มความร่วมมือกับ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด จัดให้มีมุมจำหน่ายสินค้า GI ไทย (GI Corner) อย่างถาวร ภายในท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ รวม 108 สาขาทั่วประเทศ ตลอดจนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้า GI ผ่านงานต่าง ๆ เช่น งาน GI Market งาน IP Fair และงาน THAIFEX-World of Food Asia เป็นต้น ซึ่งมีผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมา สามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดให้กับสินค้า GI ได้สูงถึง 4,080 ล้านบาท
นายทศพล กล่าวต่อไปอีกว่า เร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณามอบหมายให้จังหวัดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริม คุ้มครอง และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด โดยมีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเป็นฝ่ายเลขานุการ เป็นต้น ซึ่งกรมฯ มั่นใจว่า จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับสินค้า GI และสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้เพิ่มขึ้น