PwC เผยผลสำรวจ พบผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟน ช็อปออนไลน์มากกว่าอุปกรณ์เคลื่อนที่อื่นในรอบ 10 ปี ขณะที่ไทยจะมีการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้น
บริษัท PwC เผยผลสำรวจ Global Consumer Insights Survey ซึ่งทำขึ้นเพื่อประเมินพฤติกรรม ลักษณะนิสัย และความคาดหวังของผู้บริโภคออนไลน์มากกว่า 21,000 คนใน 27 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนาย จอห์น แมกซ์เวลล์ หัวหน้าสายงาน Global Consumer Markets ของ PwC เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ PwC สำรวจพบว่า ผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าอุปกรณ์อื่นๆในการช็อปปิงออนไลน์ โดย 24% ใช้เป็นประจำทุกสัปดาห์ และยังพบว่า ตลาดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (Mobile payment) ขยายตัวมากขึ้น โดยเวียดนามเป็นตลาดที่เห็นผู้บริโภคชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือในร้านค้าเติบโตเร็วมากที่สุดที่ 61% จากปีก่อนที่ 37% ตามด้วยตะวันออกกลางที่ 45% จากปีก่อนที่ 25% ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ประเทศในแถบเอเชียมีแนวโน้มที่ผู้บริโภคจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้รวดเร็วกว่าประเทศในแถบตะวันตก
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์มากกว่าแค่การช็อปปิง ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติครั้งสำคัญของการเข้าถึงสื่อและความบันเทิงที่กำลังเกิดขึ้น โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ ยังได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากธุรกิจบันเทิงและสื่อด้วย
ทั้งนี้พบว่า 38% ของผู้บริโภคทั่วโลกที่ถูกสำรวจ มีการเสพสื่อและความบันเทิงผ่านการสตรีมมิ่ง (Streaming) อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และมีมากถึงกว่า 50% ในบรรดาผู้บริโภคที่เกิดช่วงปลาย พ.ศ.2533 และตั้งแต่ พ.ศ. 2543 หรือเด็กรุ่นใหม่ที่เป็น (Generation Z: Gen Z)
รายงานพบว่า 25% ในการรับข่าวสารของผู้บริโภคต่างหันมาใช้ช่องทางโซเชียลเป็นอันดับแรก ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย เพราะการใช้โซเชียลมีเดียกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ ซึ่งโฆษณาที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย ยังทำให้ผู้บริโภคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ ได้ โดยได้รับการจัดอันดับว่า เป็นรูปแบบการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในอันดับ 3 และเป็นรูปแบบโฆษณาที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวมิลเลนเนียลมากที่สุด แซงหน้าโฆษณาโทรทัศน์แบบดั้งเดิม
ส่วนของประเทศไทย ผลสำรวจยังพบว่า การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือของผู้บริโภคนั้นเพิ่มขึ้นมาที่ 67% จากปีก่อนที่ 48% เนื่องจากปัจจุบันคนไทยใช้มือถือมากขึ้น โดยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) พบว่า ณ ไตรมาส 3 ปี 2561 มีผู้ใช้มือถือถึง 124.6 ล้านเลขหมาย ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 119.8 ล้านเลขหมาย และส่วนใหญ่ยังใช้มือถือต่ออินเทอร์เน็ต 71.5 ล้านเลขหมาย
“การส่งเสริมให้ไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด ผ่านแผนพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ หรือ National e-payment จะยิ่งทำให้สถาบันการเงินของไทยหันมาให้บริการชำระเงิน ถอนเงินสดจากตู้ผ่านโมบายแบงก์กิ้งโดยไม่ต้องใช้บัตรเอทีเอ็ม ขณะที่ร้านค้าทั่วไปก็หันมารับชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน หรือ คิวอาร์โค้ดมากขึ้น”