ปิดฉากสรรหาคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เรียบร้อยแล้วในระดับเขต หลังจากนี้จะนำรายชื่อทั้งผู้แทนสถาบันเกษตรกร และผู้แทนเกษตรกร จำนวน 21 คน เข้าสู่คณะอนุกรรมการสรรหาฯ ที่มีปลัดเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เมื่อผ่านการพิจารณาแล้วจะเข้าสู่บอร์ดพิจารณาในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผลจากการคัดเลือกผู้แทนเกษตรกรชาวสวนยางและผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อเข้ารับการสรรหาแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) มีรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกระดับเขตแล้ว ประกอบด้วย ผู้แทนสถาบันเกษตรกร 1. กลุ่ม ภาคเหนือ ได้แก่ นายคณพศ ปาคำวัฒนสกุล ประธานสหกรณ์ สกย.อุตสาหกรรมการเกษตรเชียงราย จำกัด 2.กลุ่มภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้แก่ นายสง่า ขันคำประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดเลย
3.กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ นายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขานุการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย 4.ภาคกลางและภาคตะวันออก ได้แก่ ประสิทธิ์ คุณประสาท ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดอุทัยธานี และ ผู้ช่วยเลขานุการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย 5.ภาคใต้ตอนบน นายสุรัตน์ เทือกสุบรรณ ประธานชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสุราษฎร์ธานี จำกัด 6.ภาคใต้ตอนกลาง นายวิสูตร สุชาฎา ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดนครศรีธรรมราช 7.ภาคใต้ตอนล่าง นายจู่เที่ยง เซ่งสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 3 อำเภอ รวม 7 คน
ส่วนผู้แทนเกษตรกร จำนวน 14 คน ประกอบด้วย ภาคเหนือตอนล่าง มีจำนวน 2 คน ได้แก่ นายวินัย ภักสุวรรณ์ 2.นางสาวอรอนงค์ อรินวงค์ 2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มี 2 คน ได้แก่ นายไพโรจน์ พันธุ์จ้อย และนายสิทธิพร เทพจันทรมณีฉาย 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มี 2 คน ได้แก่ นายอดุลย์ โคตรพันธ์ และนายศิริชัย สรสา 4.ภาคกลางและตะวันออก มีจำนวน 2 คน ได้แก่ นายสังข์เวิน ทวดห้อย และนายเกรียงไกร เทพินทร์อารัก 5. ภาคใต้ตอนบน มีจำนวน 2 คน ได้แก่ นายพูนธวัช เล่าประวัติชัด และนายสุนทร รักษ์รงค์ 6.ภาคใต้ตอนกลาง มีจำนวน 2 คน ได้แก่ นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน และนายสมบัติ บุญสนิท 7.ภาคใต้ตอนล่าง มีจำนวน 2 คน ได้แก่ นายประยูรสิทธิ คณานุรักษ์ และนายอำนวนโชค ศิริชัย รวมผู้แทนสถาบันเกษตรกร และผู้แทนเกษตรกร จำนวน 21 คน
“เป็นกระบวนการสรรหาคัดเลือกมามีความโปร่งใส ตามกติกาที่ได้วางไว้ ผมได้เข้าไปร่วมเป็นสักขีพยานในเขตต่างๆ ก็มีวิธีการคัดเลือก สรรหา มีการแสดงวิสัยทัศน์ในเรื่องยาง มองว่าการผ่านระดับเขต เป็นตัวจริงในวงการยางพาราทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นใครไม่รู้อยากจะมา หรือเข้ามาแล้วก็ดีแต่พูด พอมาจากเกษตรกรโดยตรง หยิบใครขึ้นมาก็เจอเกษตรกรอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในฐานะประธานเครือข่ายฯ เห็นว่าหยิบใครมาก็ได้ เป็นอาชีพ ก็ควรที่จะได้เข้าไปดูแลผลประโยชน์เอง ผ่านจากรอบนี้แล้วก็เข้าไปสู่คณะกรรมการสรรหาฯ โดยมีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดเกษตรและสหกรณ์ เป็นอนุประธานสรรหาฯ ”
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากจะฝากเป็นการบ้าน หลังจากได้รับการเลือกตั้งแล้วในฐานะที่เป็นตัวแทนเกษตรกรต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดในฐานะที่เป็นผู้แทนเกษตรกร ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ จะต้องทำงานจริงจัง และต้องทำงานร่วมกับข้าราชการ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีก็คือนโยบายที่จะต้องทำให้เป็นไปตามกลไกของกฎหมายให้ประสบความสำเร็จให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่มาของรายได้ เรื่องขององค์กร กยท. และที่สำคัญการแก้ปัญหาราคายาง ในการกำหนดที่จะเป็นนโยบายออกมา เป็นการกระตุ้นให้รัฐบาล ชี้นำราคายาง หวังเป็นอย่างยิ่งผู้นำที่ขันอาสาเข้าไปจะต้องทำงานอย่างเต็มที่
ยินดีที่จะทำงานร่วมกับตัวแทนเกษตรกร เพื่อนำนโยบายต่างๆ เพื่อเข้าสู่นโยบายการบริหารยางพาราในอนาคต รวมทั้งเรื่องสะสางที่จะต้องมาจัดการไม่ว่าจะเป็นโรงงานต่างๆ จะต้องมาเปิดดำเนินการเพื่อที่จะสร้างรายได้องค์กร ไม่ใช่ใช้แต่เงินเซสส์อย่างเดียว และทุกวงเว็บ ในกองทุน มาตรา 49 อย่างงานวิจัย เมื่อลงทุนไปแล้วควรจะแปลงงานวิจัยมาเป็นรายได้ได้จริง ไม่ใช่วิจัยก็ดำเนินธุรกิจไม่ได้ เช่นเดียวกันกับ ใครจะมาเป็นประธานบอร์ด แทน พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข (ว่าที่ วุฒิสภา (ส.ว.) ในอนาคต) จะต้องมีการกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่าต่อไปคนที่จะเป็นประธานบอร์ด จะต้องเข้มข้น เข้มแข็งกว่านี้ และฟังความรอบด้าน