“ทุเรียน” ราชาผลไม้ไทยโด่งดังไปทั่วโลก และยิ่งปังมากหลังจากที่อาลีบาบานำทุเรียนไทยซื้อ-ขาย ตลาดออนไลน์ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ยอดความต้องการบริโภคทุเรียนไทยในเมืองจีนพุ่งกระฉูดจนแทบไม่พอขาย ดันราคาทุเรียนไทยทั้งในเมืองไทยและเมืองจีนอัพราคาขึ้น ชาวสวนทุเรียนลืมตาอ้าปากกันได้ถ้วนหน้า
องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก. รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นที่รู้จักในชื่อของ ตลาด อ.ต.ก.ที่สร้างชื่อเสียงตลาดสดที่ดีที่สุดติดอันดับ4 ของโลก สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อยด้วยการสร้างตำนานใหม่ขายทุเรียนราคาขั้นตํ่ากิโลกรัมละ 3,000 บาท สูงสุดกิโลกรัมละ 5,000 บาท
“นายกมลวิศว์ แก้วแฝก” ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. เล่าที่มาของความสำเร็จว่า เกิดจากแนวคิดที่ต้องการทำการตลาดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าว่าต้องการทุเรียนรสชาติแบบไหน หวานมาก หวานน้อย หรือหวานกรอบ เมื่อได้รับทราบความต้องการแล้ว อ.ต.ก.จะคัดทุเรียน ซึ่งในทุเรียน 1 ลูกจะมีรสชาติไม่เหมือนกัน บางพูสุก บางพูยังไม่สุก บางพูหวานเจี๊ยบ บางพูจืด
“ดังนั้นการที่จะได้ทุเรียนตรงตามความต้องการ ใน 1 กิโลกรัม ต้องใช้ทุเรียน 4-5 ลูก ราคาที่ขายก็ต้องสูงตามคุณภาพไปด้วย อาทิ ทุเรียนหมอนทอง ราคา 3,000 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าเป็นทุเรียนก้านยาวราคา 5,000 บาทต่อกิโลกรัม อยากได้เนื้อแบบไหน นุ่ม กรอบ หรือหวาน ถ้าไม่พอใจสามารถคืนเงินได้”
โดยในอนาคต อ.ต.ก.จะทำป้ายรับรองมาตรฐานสวนทุเรียน หากลูกค้าซื้อทุเรียนแล้วมีปัญหา ถ้าเห็นป้ายรับรองมาตรฐาน อ.ต.ก. สามารถนำสินค้ามาเปลี่ยนที่ อ.ต.ก.ได้ทันที ส่วนสวนทุเรียนที่ได้รับรองมาตรฐาน อ.ต.ก.ก็จะทำให้ได้ราคาผลผลิตดีขึ้น
นายกมลวิศว์ กล่าวต่อว่า วันนี้ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถขายทุเรียนหน้าสวน ได้ในราคาเดียวกับตลาด อ.ต.ก. แต่ภายใต้ขอบเขตที่ว่า ต้องเป็นทุเรียนดี ทุเรียนแก่ ไม่อ่อน ซึ่งได้พยายามสร้างการเรียนรู้ให้กับเกษตรกรว่า ต้องผลิตสินค้าในเชิงคุณภาพ อย่าผลิตสินค้าในเชิงปริมาณ ไปแข่งเรื่องราคาตํ่า นอกจาก อ.ต.ก. จะติดป้ายแล้ว จะนำสินค้าขึ้น แอปพลิเคชัน “ปลูกเอง ขายเอง”
ปัจจุบัน อ.ต.ก.มีสินค้าที่มีมาตรฐานกว่า 2,000 รายการ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งเร็วๆ นี้ อ.ต.ก. จะนำมาตรฐานเข้าไปดูแลถึงสวนของเกษตรกร โดยประเดิมแห่งแรกที่ “สวนมะพร้าวนํ้าหอม” จังหวัดราชบุรี อ.ต.ก.จะทำป้ายรับรองมาตรฐานให้ภายในเดือนนี้ และที่ “สวนลำไย” จังหวัดลำพูน ในลำดับต่อไป เรียกว่าต่อจากนี้สินค้าที่ซื้อ-ขาย ผ่านแอปพลิเคชัน อ.ต.ก.ทุกรายการที่จำหน่าย จะต้องได้มาตรฐานของ อ.ต.ก.ก่อน ขั้นตอนต่อไปจึงนำสินค้ามาซื้อ-ขาย ผ่านแอปพลิเคชัน ผู้บริโภคก็จะได้สินค้าที่มีคุณภาพเหมือนได้มาที่ตลาด อ.ต.ก. เมื่อมีการปักป้ายรับรองมาตรฐานอ.ต.ก.แล้ว ไม่ว่าจะซื้อสินค้าที่ไหน คุณภาพไม่ได้ตามที่ต้องการก็สามารถเปลี่ยนสินค้าได้ที่ อ.ต.ก. ทันที
นอกจากนี้ อ.ต.ก. ยังมีแอปพลิเคชัน “ปลูกเอง ขายเอง” เป็นพื้นที่ซื้อขายออนไลน์ทั้งระบบ Android และ IOS เป็นแอปพลิเคชันที่เชื่อมโยงเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากัน โดยภายในแอปพลิเคชันจะมีการแบ่งระบบในส่วนของผู้ซื้อ และเกษตรกรผู้ขาย มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการซื้อ-ขาย ที่ทันสมัย มีระบบอี-คอมเมิร์ซ ที่เชื่อมต่อแอปพลิเคชันเข้ากับระบบการจ่ายเงินออนไลน์ ทั้งยังสามารถบอกความคืบหน้าของสินค้าผ่านรูปภาพ พร้อมเล่าเรื่องราวความคืบหน้าของสินค้าให้ลูกค้าทราบเป็นระยะๆ จนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ลูกค้าสามารถติดตามดูสินค้าตนเองที่ได้เลือกซื้อไว้จากเกษตรกรได้
ทั้งนี้คุณสมบัติของเกษตรกร จะต้องเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรคุณภาพ ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ หรือได้รับมาตรฐานการรับรองจากสถาบันแห่งประเทศไทย หรือสถาบันนานาชาติที่เป็นที่น่าเชื่อถือในปัจจุบันอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่สำคัญต้องมีความพร้อมที่จะจำหน่ายให้ผู้ซื้อแบบจองผลผลิตล่วงหน้าหรือพร้อมจำหน่ายทันที
นายกมลวิศว์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ อ.ต.ก.ยังมีสินค้าเกษตรคุณภาพระดับพรีเมียม ภายใต้แบรนด์ Best Of Ortorkor แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ สินค้าคัดสรรของดีของเด่นตลาด อ.ต.ก.โดยคัดเลือกสินค้าคุณภาพพรีเมียมที่วางจำหน่ายอยู่แล้วมาโปรโมทขยายตลาด ได้แก่ มะม่วง, ทุเรียนสด, ทุเรียนอบกรอบ, นํ้าผึ้งป่าเดือนห้าอินทรีย์, เห็ดแครงอินทรีย์, มะพร้าว, ฝรั่ง และชมพู่ ปลอดภัยจากสารเคมี เป็นต้น
กลุ่มที่ 2 เป็นสินค้าเกษตรแปรรูป เน้นการสร้างตลาดใหม่ให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีศักยภาพก้าวไกลสู่ระดับสากล ได้แก่ ทุเรียนอัดเม็ดเสริมแคลเซียม, ข้าวหอมยั่งยืน, ข้าวเขียวนํ้านมอินทรีย์, หมอนยางพารา, เห็ดแครงอบแห้ง และนมเห็ดแครงอัดเม็ด เป็นต้น โดยสินค้ามีวางจำหน่ายแล้วที่ตลาด อ.ต.ก. ย่านถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร และสั่งซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ www.ortorkor.com
หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,472 วันที่ 23 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2562