สังคมสูงวัยดันตลาดเฮลท์แคร์ไทยโต “ฟิลิปส์” สบช่องรุกตลาดเร่งดันโซลูชั่นใหม่ๆ เจาะตลาดกลุ่ม Monitoring Analytics ชู 4 กลยุทธ์หลัก ทั้งโซลูชั่นที่ช่วยจัดการข้อมูล,การสร้างประสบการณ์ที่ดีของผู้ป่วย,ความพึงพอใจของบุคลากรทางการแพทย์ และผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ หวังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานแพทย์พยาบาล
นายเฟลิกซ์ บาเดอร์ ผู้บริหารระดับโกลบอล กลุ่มธุรกิจ Monitoring Analytics ของฟิลิปส์ ประจำสำนักงานใหญ่ ประเทศเนเธอแลนด์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมด้านเฮลท์แคร์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นผลมาจากการเข้าสู่ “ยุคสังคมผู้สูงอายุ” ทำให้จำนวนผู้ป่วยมีมากขึ้น จึงเกิดโรงพยาบาลและสถานสาธารณสุขที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในขณะที่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มไม่ทันกับสัดส่วนของจำนวนผู้ป่วย จึงเป็นที่มาของการนำโซลูชั่นเข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น ประกอบกับการเติบโตทางด้านเทคโนโลยี จึงช่วยสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเครื่องมือแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีขีดความสามารถเหนือขึ้นจากเดิม เพราะเครื่องมือแพทย์เป็นเครื่องมือสำคัญต่อการช่วยชีวิตผู้คน และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้
สำหรับตลาดเฮลท์แคร์ในประเทศไทย ต้องถือว่ามีความสำคัญในลำดับต้นๆในภูมิภาค เนื่องจากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น medical hub ความพร้อมของสถานพยาบาลและคุณภาพของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการศึกษาในวงการแพทย์ที่ก้าวหน้าอย่างมาก ดังนั้นการนำเทคโนโลยีและโซลูชั่นใหม่ๆเข้ามาในประเทศไทย จึงเกิดการตื่นตัวและยอมรับได้อย่างรวดเร็ว โดยข้อได้เปรียบอีกหนึ่งข้อของตลาดเฮลท์แคร์ในประเทศไทย คือ competitive price ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในประเทศไทยถือว่าคุ้มค่ากับมาตรฐานของแพทย์และพยาบาล มากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เนื่องจากอัตราส่วนของแพทย์และพยาบาลต่อผู้ป่วยยังไม่เพียงพอ การนำเทคโนโลยีและโซลูชั่นด้านเครื่องมือแพทย์เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล จึงมีความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ในส่วนของประเทศไทยบริษัทได้ชูกลยุทธ์ในการรุกธุรกิจในกลุ่ม Monitoring Analytics ของฟิลิปส์ ใน4 ด้าน ได้แก่ Integrated Solution: โซลูชั่นที่ช่วยจัดการข้อมูลได้อย่างครบวงจร Patient Experience: ประสบการณ์ที่ดีของผู้ป่วยที่ทำการรักษา Staff Satisfaction: ความพึงพอใจของบุคลากรทางการแพทย์ (ผู้ใช้งาน) Clinical Outcome: ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ล่าสุดบริษัทจึงเตรียมนำนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ Philips IntelliVue (ฟิลิปส์ อินเทลิวิว) ซึ่งออกแบบมาให้ใช้งานง่าย และเก็บข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะในขณะที่ต้องขนย้ายผู้ป่วยจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ทำให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลและนำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการนำโซลูชั่น Intellispace Critical Care & Anesthesia (ICCA) คือ โซลูชั่นที่เข้ามาช่วยรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยจำนวนมหาศาลเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการเข้าถึงที่สะดวกรวดเร็ว การเก็บข้อมูลด้วยระบบที่ช่วยลดอัตราการผิดพลาดและลดระยะเวลาในการเก็บข้อมูลด้วยวิธีจดบันทึกแบบเดิมๆ ของเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้งช่วยนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อนำเสนอแนวทางการดูแลรักษา และความเป็นไปได้ของอาการผู้ป่วยต่อบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างสูงสุด
นอกจากนี้บริษัทยังมีนวัตกรรมและโซลูชั่นเรื่อง Smart Alarm หรือสัญญาณเตือนแบบสมาร์ทจากเครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ ที่ลดอัตราการเตือนที่ไม่จำเป็นออก เพื่อลดเสียงรบกวนผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ ขณะนอนพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล ขณะที่การทำงานร่วมกันของนวัตกรรมเครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพและไอทีโซลูชั่นจากฟิลิปส์ จนเกิดเป็นโมเดล “Connected Care” ขึ้นนี้ เข้ามาช่วยลดปัญหาหลักๆ ของเครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพในปัจจุบัน พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์