31 ก.ค.วงการประมงจับจ้อง “มณีเงิน 5” แล่นเข้าท่าเทียบเรือแพ ป.ชานนท์ หลังออกไปทำการประมงมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ครั้งแรกในรอบ 4 ปี นายกประมงกันตัง ยังไม่สรุปว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ เบื้องต้นได้รับแจ้งปลาที่จับเป็นราคาระดับกลาง ไม่สูงมากป้อนโรงงานแปรรูปอุตสาหกรรม
นายสฤษพัฒน์ ภมรวิศิษย์ นายกสมาคมประมงกันตัง จังหวัดตรัง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรือมณีเงิน 5 เป็นเรือสมาชิก และเกี่ยวข้องเป็นญาติด้วย เรือนอกน่านน้ำมีอยู่แล้ว ได้มีการคุยกับนายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ คล้ายกับเรือในประเทศลงทุนค่อนข้างสูง แต่เรือมีสภาพดีอยู่แล้ว ในข้ออนุสัญญา ซี 188 ได้กล่าวถึงเฉพาะเรือใหม่เท่านั้น ต้องทำคล้ายๆกับเรือในประเทศ ต้องทำล็อคบุคส์ แล้วเรือเข้าออกผ่านศูนย์ปีโป้ มีการจ่ายสัญญาจ้างผ่านระบบบัญชี ส่วนแรงงานที่ออกไปในเรือจะเป็นคนไทยทั้งหมด ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่จะลองทำการประมง
“พื้นที่ที่ออกไปทำการประมงเขตพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ พ.ศ. 2561 ได้มีการประกาศกรมประมงเรียบร้อยแล้ว สาระสำคัญ สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกตามความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement ; SIOFA) ทำให้ประเทศไทยมีสิทธิเข้าไปทำการประมงในเขตพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงดังกล่าว”
นายสฤษพัฒน์ กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการทดลองมากกว่า ยังไม่ครบทั้งระบบ เพราะความจริงต้องมีเรือขนถ่ายสัตว์น้ำ เรือน้ำมัน จากจังหวัดตรังวิ่งออกไปใช้ระยะเวลา 15 วัน เมื่อทำการประมงแล้ว ปลาที่จับได้เป็นปลาโรงงานเยอะมาก ระดับราคากลาง ไปจนถึงปลาราคาถูก อาทิ ปลาปากคม ปลาทูแขก และปลาทรายแดง เป็นต้น ส่วนใหญ่ป้อนโรงงานแปรรูปซูริมิ โรงงานปลากระป๋อง
“เมื่อกลับมาแล้วจะต้องดูยอดขายผลประกอบการ แล้วจะต้องหารือกับอธิบดีกรมประมง เพราะว่ายังไม่ 100% เป็นไปอย่างที่คาดการณ์เอาไว้ เช่น ระบบติดตามเรือยังไม่เสถียร มีความสุ่มเสี่ยง กล่าวคือ สัญญาณดับเป็นบางช่วง และในระหว่างที่ออกไปก็มีสัญญาณดาวเทียมจากทางแอฟริกาจับสัญญาณได้ว่าเป็นเรือไทย ทางโน้นก็แจ้งมายังกรมประมง ทางกรมประมงก็รายงานกลับไปว่าเรือดังกล่าวนี้ได้ไลน์เซนต์อนุญาตถูกต้องให้ออกไปทำการประมงได้”
นายสฤษพัฒน์ กล่าวว่า ในวันที่ 31 ก.ค.นี้ก็คงต้องดูจำนวนปลาที่ได้มาจะคุ้มค่ากับที่ออกไปหรือไม่ เพราะมีเรือหลายลำที่อยากจะออกไปเช่นเดียวกัน อีกด้านก็มีความเป็นห่วง ทั้งไปไม่คุ้ม และกฎหมายไทยก็รุนแรง ผิดพลาดไม่ได้เลย เรียกว่าพอสัญญาณวีเอ็มเอสหายเนี่ย ใจผมตุ๋มๆ ต๋อมๆ เลย คุยกับน้องเจ้าของเรือ ก็บอกว่านอนไม่หลับเลย ในสัญญาณหายไปครั้งหนึ่ง ลุ้นตลอดเรือออกไปจับประมงทั้ง 3 เดือน สัญญาณดับไปประมาณ 3 ครั้ง ช่วงที่เรือแล่นผ่านเมาดีฟ และศรีลังกาคลื่นลมแรง จึงทำให้มีการคลาดเคลื่อนกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ จากวันที่ 30 ก.ค.เป็นวันที่ 31 ก.ค.นี้
“ในอนาคตต้องหาพื้นที่ทำการประมงนอกน่านน้ำให้กับเรือลำอื่นๆ เพราะว่าพื้นที่ตรงนี้เองเสี่ยงมาก เพราะเรือไปทำการประมงเยอะเกินไปก็ลำบาก จะไม่ประสบความสำเร็จเพราะแย่งทรัพยากรกันเอง ดังนั้นสิ่งที่อยากจะฝากรัฐบาล โดยผ่านกรมประมง จะต้องไปเจรจาเพิ่มเพื่อหาพื้นที่ที่ทำการประมงใหม่ไว้รองรับด้วย”
อนึ่ง เมื่อวันที 9 พฤษภาคม 2562 กรมประมงอนุญาตให้ เรือมณีเงิน 5 ของบริษัท อควานมารีน ฟีชเชอรี่ ออกทำการประมงนอกน่านน้ำไทย บริเวณพื้นที่ที่อยู่ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SIOFA) ซึ่งถือเป็นเรือประมงพาณิชย์ลำแรกที่ออกทำการประมงนอกน่านน้ำไทย หลังจากการประกาศใช้กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ.2562 และหลังจากที่สหภาพยุโรปได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองของภาคประมงไทย