“สุนทร” หนุนรัฐบาลเต็มที่ดันโครงการประกันรายได้ยางพารากิโลฯละ 60 บาท ร้องขออุ้มชาวสวนยางชายขอบ 3 แสนรายเข้าร่วมวงด้วย พ่วงแนวทางเกษตรยั่งยืน ชวนจีนปักฐานการผลิตไทย หลังโดนอเมริกาตั้งการ์ดกำแพงภาษีสูง 25% ชี้อนาคตการค้าโลกไม่เป็นธรรมงัดไม้ตายหยุดกรีดยางทั้งประเทศ
นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ และ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สนับสนุนให้รัฐบาลทำโครงการประกันรายได้ยางพาราที่กิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งต้องอ้างอิงกับราคายางแผ่นดิบ ชั้น 3 แต่ต้องให้เกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์(บัตรสีชมพู) ซึ่งได้ขึ้นข้อมูลกับการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 3 แสน ราย พื้นที่ 5 ล้านไร่ได้เข้าร่วมโครงการด้วย
“ชาวสวนชายขอบได้จ่ายค่าธรรมเนียมส่งออก(cess) ด้วยเช่นกัน แต่ไม่เคยได้รับการดูแลจากการยางแห่งประเทศไทย อีกประการชาวสวนยางชายขอบกลุ่มนี้กล้าแสดงตัวเพราะแม้สวนยางจะอยู่ในเขตพื้นที่ทับซ้อนป่าไม้ แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ภายใต้มติ ครม.26 พ.ย.2561 ที่กำลังได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามกฎหมาย”
นายสุนทร กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนนั้น นอกเหนือจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างโครงการประกันรายได้ และการแก้ปัญหาระยะกลางด้วยการทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ เพื่อเพิ่มการใช้ยางในประเทศแล้ว ประเทศไทยควรทำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะการประกาศวาระแห่งชาติว่าด้วยการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางของโลก (HUB) ต้องทำให้รับเบอร์ซิตี้เป็นจริง จึงจะแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้
ที่สำคัญต้องทำคู่ขนานกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สวนยางยั่งยืน เพื่อเพิ่มพื้นที่สวนยางยั่งยืนให้ได้อย่างน้อย 30 % จากพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 8 ล้านไร่ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางลดต้นทุน สร้างเสริมรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อสุขภาวะชาวสวนยางที่ดี
สำหรับสวนยางยั่งยืนจะเป็นเครื่องมือในการสร้างเสถียรภาพราคายางได้จริง ถือเป็นการประกาศอธิปไตยทางเศรษฐกิจของชาวสวนยาง เพื่อหลุดพ้นจากกับดักกลไกราคาและตลาดที่ไม่เป็นธรรม เพราะถ้าชาวสวนยางยั่งยืนทั้ง 8 ล้านไร่ ประกาศหยุดกรีดพร้อมกัน จะทำให้ซับพลายยางหายไปจากตลาดโลก 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ผู้ผลิตยางต้นน้ำเป็นผู้กำหนดราคายางได้บ้าง แต่ทั้งนี้ต้องทำไปพร้อมกับเพิ่มการแปรรูปยางในประเทศให้ได้เกินกว่า 35 % จากผลผลิตยางของไทย 5 ล้านตันต่อปี
ส่วนเรื่องการใช้กลไกเวทียางของโลก อย่างสภาไตรภาคียางพารา (ITRC) รัฐบาลก็จำเป็นต้องทำยุทธศาสตร์แนวร่วมเพื่อความสามัคคี แต่ก็น่าเป็นห่วงเพราะประเทศมาเลเซียที่แปรสภาพจากผู้ผลิตยางมาเป็นผู้บริโภคยางรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำยางข้นจากไทยปีละประมาณ 7 แสนตัน จะคาดหวังให้กลไกความร่วมมือนี้ควบคุมราคายางของโลกแบบกลุ่มโอเปก ของวงการน้ำมันก็คงยาก
ดังนั้นรัฐบาลควรใช้สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ที่ประเทศจีนถูกตั้งกำแพงภาษีส่งออกถึง 25 % ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์ยางด้วย โดยให้ตัวแทนการค้าของรัฐบาลไทยเร่งเจรจากับประเทศจีนเพื่อเชิญชวนให้มาตั้งโรงงานทำอุตสาหกรรมยางในประเทศไทยให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยางของโลกได้ และไทยสามารถชี้นำราคายางของโลก เพื่อต่อสู้กับตลาดยางล่วงหน้าได้จริง อีกทั้งยังเป็นการรักษาเสถียรภาพราคายางของไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความมั่นคงและยั่งยืนในอาชีพการทำสวนยาง