‘ยาง-มัน-ผลไม้’ มีลุ้นตลาดอินเดีย ‘จุรินทร์’ นำทัพบุกปลายกันยายน  

07 ก.ย. 2562 | 06:55 น.

 

ทูตอินเดีย สนองนโยบาย จุรินทร์เร่งหาตลาด 6 สินค้าเกษตร  ชี้ยาง มัน ปาล์ม ผลไม้ มีโอกาสเจาะตลาดแดนภารตะได้เพิ่มจากไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ส่วนข้าวงานยากจากอินเดียมีผลผลิตเอง มั่นใจเป้าส่งออกตลาดอินเดีย 3% ปีนี้ถึงฝั่ง

แม้ตัวเลขการส่งออกของไทยภาพรวม 7 เดือนแรกปีนี้จะยังติดลบ 1.9%  ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เชิญทูตพาณิชย์ 58 สำนักงานทั่วโลกมาประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อประเมินสถานการณ์ช่วงเดือนที่เหลือ ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ให้นโยบายทูตพาณิชย์เร่งหาตลาด โดยเฉพาะตลาดที่มีศักยภาพและตลาดใหม่ ซึ่งอินเดียเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายที่ในการผลักดันการส่งออก 6 สินค้าเกษตรที่เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ

‘ยาง-มัน-ผลไม้’ มีลุ้นตลาดอินเดีย  ‘จุรินทร์’ นำทัพบุกปลายกันยายน  

‘ยาง-มัน-ผลไม้’ มีลุ้นตลาดอินเดีย  ‘จุรินทร์’ นำทัพบุกปลายกันยายน  

‘ยาง-มัน-ผลไม้’ มีลุ้นตลาดอินเดีย  ‘จุรินทร์’ นำทัพบุกปลายกันยายน  

นายธราดล ทองเรือง  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ(สคต.) กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เผยกับ ฐานเศรษฐกิจว่า จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายในการผลักดันสินค้าเกษตร 6 รายการหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน ข้าวโพด และผลไม้ โดยให้ทูตพาณิชย์ในตลาดสำคัญๆหาช่องทางในการผลักดันการส่งออก ในส่วนตลาดอินเดียสินค้าที่ยังมีช่องทางโอกาสในการเจาะตลาด ได้แก่ มันสำปะหลัง ที่แม้ว่าอินเดียจะผลิตมันสำปะหลังได้เองได้ 3-3.5 หมื่นตันต่อเดือน แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่อินเดียยังต้องการคือ แป้งมัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เครื่องสำอาง อาหาร เสื้อผ้า  เป็นต้น

 

‘ยาง-มัน-ผลไม้’ มีลุ้นตลาดอินเดีย  ‘จุรินทร์’ นำทัพบุกปลายกันยายน  

ธราดล ทองเรือง  

 

 

ส่วนยางพารา อินเดียผลิตได้เองในประเทศแต่ยังน้อย โดยผลิตได้ปีละประมาณ 9 แสนตัน และมีการนำเข้าปีละ 3 แสนตัน จากอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย  มองว่าไทยควรเข้าไปเจาะตลาดยางพาราที่มีคุณภาพสูงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมรองเท้าของอินเดียที่ต้องใช้ยางพาราคุณภาพ ในขณะที่ปาล์มนํ้ามันแม้ว่าอินเดียจะผลิตเองแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้าจากมาเลเซียเป็นหลักทั้งนํ้ามันปาล์มดิบและนํ้ามันปาล์มบริสุทธิ์ โดยมาเลเซียได้สิทธิพิเศษภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ซึ่งไทยมีจุดอ่อนตรงนี้ อย่างไรก็ดีในปี 2563 สิทธิพิเศษทางภาษีของมาเลเซียจะหมดลงน่าจะเพิ่มโอกาสให้ไทยสามารถนำเข้ามากขึ้น

 

ในสินค้าข้าวมองว่าน่าจะมีโอกาสน้อยในตลาดอินเดีย เพราะเขาผลิตข้าวได้เองและอินเดียก็ปกป้องเกษตรกรในประเทศ ส่วนสินค้าผลไม้ไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดอินเดียอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ มะม่วง เงาะ มังคุด ทุเรียน ลำไย รวมถึงเมลอน มะขาม ฝรั่ง แก้วมังกร

เป้าส่งออกตลาดอินเดียปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 3% (7 เดือนแรกขยายตัว 3.6%) มั่นใจว่าจะทำได้ ซึ่งท่านรัฐมนตรีพาณิชย์จะนำคณะเยือนอินเดียในวันที่ 28-30 กันยายนนี้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,502 วันที่ 5-7 กันยายน 2562

‘ยาง-มัน-ผลไม้’ มีลุ้นตลาดอินเดีย  ‘จุรินทร์’ นำทัพบุกปลายกันยายน