พาณิชย์ เปิดเวทีระดมความเห็น FTA ไทย-สหภาพยุโรป ทั่วประเทศ เริ่มเวทีแรกที่ชลบุรี มั่นใจจะเป็นโอกาสขยายตลาดใหม่ให้กับสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดเวทีระดมความเห็นเรื่องโอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ที่ ชลบุรี ซึ่งเป็นเวทีแรกที่จัดขึ้น ก่อนเดินสายจัดในภูมิภาคอื่นๆ การสัมมนาครั้งนี้ เพื่อรับฟังประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ก กว่า 150 คนทั้งนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับอียูจะเป็นโอกาสขยายตลาดใหม่ให้กับสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ หรือป้องกันไม่ให้การลงทุนไหลออกไปยังประเทศอื่นที่อียูมีเอฟทีเอด้วย เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ เป็นต้น รวมทั้งอินโดนีเซียที่การเจรจากับอียูมีความคืบหน้า
ทั้งนี้ บางส่วนมีมุมมองว่าการฟื้นเจรจามีความท้าทาย เนื่องจากเอฟทีเอที่อียูทำกับประเทศต่างๆ มีมาตรฐานสูง ทั้งในส่วนการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่นๆ เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น
สำหรับสหภาพยุโรปหรืออียู เป็นตลาดใหญ่ มีประชากรกว่า 513 ล้านคน มีรายได้ต่อปีเฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 36,531 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีสมาชิกถึง 28 ประเทศ จึงมีความสำคัญกับไทยทั้งด้านการค้าและการลงทุนในอันดับต้นๆ โดยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย รองจาก อาเซียน และจีน และมาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 4 รองจากญี่ปุ่น จีน และอาเซียน ดังนั้นการที่อียูได้ลงนามจัดทำเอฟทีเอกับเวียดนาม และสิงคโปร์แล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีผลใช้บังคับหลังจากผ่านความเห็นชอบของรัฐสภายุโรปภายในปีนี้ และอาจส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ได้เปรียบไทยในตลาดอียู เพราะภายใต้เอฟทีเออียู-เวียดนาม อียูจะยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้ากว่า71% ของสินค้าทั้งหมดจากเวียดนามในทันที สำหรับสินค้าที่เหลือรวมแล้วกว่า 99% จะทยอยยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าภายใน 7 ปี
ขณะที่ภายใต้เอฟทีเออียู-สิงคโปร์ อียูจะยกเลิกภาษีที่เก็บกับสินค้ากว่า 80% ของสินค้าทั้งหมดจากสิงคโปร์ในทันที สำหรับสินค้าที่เหลือจะทยอยยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าภายใน 3-5 ปี ซึ่งมีโอกาสสูงที่ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในอียูให้กับ 2 ประเทศนี้ จึงถือเป็นความท้าทายของไทยเป็นอย่างมากในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนและการกีดกันการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับการเปิดเวทีระดมความเห็นเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูในระดับภูมิภาค ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 จังหวัดสงขลา ในวันที่ 28 ตุลาคม 2562 และจังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 หลังจากนั้น จะรวบรวมผลการระดมความเห็น และผลการศึกษาวิจัยของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2562 เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ) และคณะรัฐมนตรี พิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้ต่อไป
ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,290ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออก 25,041ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,249ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.–ส.ค.) ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 29,757ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออก 16,093 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยนำเข้า 13,664 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ