แข่งเดือด! เครือข่ายหนุน กยท.ตั้งบริษัทร่วมทุนยางกับสถาบันเกษตรกร เลียนโมเดลบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จ้างมืออาชีพบริหาร ใช้เงินกองทุนพัฒนายางพารา มาตรา 49 (3) แนะดึงโรงงานเข้าร่วม ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ป้องปัญหาเกษตรกรร้องเรียน ไม่เป็นธรรม
จากกรณี การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เตรียมจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกับสถาบันเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำ TOR เพื่อการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา และจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรม(บอร์ด)การการยางแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เป็นเรื่องที่เครือข่ายฯ เสนอมาตั้งนานแล้วในเรื่องการจัดตั้งบริษัทลูก ร่วมกับสถาบันเกษตรกรเพื่อที่จะลดความผันผวนด้านราคายางในประเทศและตลาดโลก โดยให้ใช้เงินทุนมาตรา 49 (3) ให้จ้างมืออาชีพมาบริหาร ซึ่งมี 35% มาใช้จ่าย ซึ่งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ผู้ว่าการ กยท.ฯ มาบริหาร เช่นเดียวกับบริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด
ส่วนในคณะกรรมการก็มีตัวแทน 3 ฝ่าย ได้แก่ กยท. หรือตัวแทนบอร์ด สถาบันเกษตรกร และดึงโรงงานเข้าร่วมด้วยก็ได้ จดทะเบียนร่วมหุ้นคนละ 33% ตั้งบริษัทเป็นบริษัทส่งออก ตั้งคณะกรรมการฝ่ายขาย ก็จะมีเกษตรกรเข้าร่วมเป็นกรรมการฝ่ายขาย ในเมื่อฝ่ายขายแล้วยังทำให้ราคายางตกลงมา ฝ่ายเกษตรกรก็จะมาจัดการกับตัวแทนเกษตรกรที่เข้าไปนั่งร่วมเอง นี่เป็นการป้องกันการร้องเรียน
นายธีระชัย กล่าววว่า ยิ่งประกันรายได้ ราคายิ่งตกต่ำลง น้ำยางก้อนถ้วยเหลือ 15 บาท/กิโลกรัมแล้ว ดังนั้นทางออกก็คือการตั้งบริษัทแล้วซื้อยางแข่งขาย เป็นการกระชากที่จะต่อสู้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากตั้งขึ้นมาจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ลำดับที่ 6 ได้ดังนั้นควรเร่งทำโดยเร็วที่สุด