สทนช. วางมาตรการรองรับทุกปัญหาน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี 20 ปี หวังกระจายน้ำทั่วถึง ครอบคลุมความต้องการรอบด้าน ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ 3 จังหวัด พร้อมเตรียมชี้เป้าพื้นที่เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดปัญหาน้ำท่วม รุดศึกษารับมือปัญหาน้ำเสื่อมโทรมและการรุกตัวของน้ำเค็ม
วันที่18 พ.ย.62 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยว่า พื้นที่ 3 จังหวัดของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC ได้แก่ จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา นั้น มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะด้านอุปโภคบริโภค ซึ่งในอนาคตจำเป็นจะต้องรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการเพิ่มของจำนวนประชากรและการพัฒนาในด้านต่างๆ
อาทิ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว รวมถึงความเสี่ยงขาดแคลนทางด้านการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อย 65 ของพื้นที่ EEC เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งนี้ จากการประเมินความต้องการใช้น้ำทุกภาคส่วนพบว่าพื้นที่ 3 จังหวัด EEC มีความต้องการใช้น้ำถึง 2,419 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 58 ของภาคตะวันออก นอกจากนี้ สทนช. ยังได้มีการประเมินความต้องการใช้น้ำในระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2580) พบว่ามีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นในทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี เพิ่มขึ้น 50% โดยมาจากด้านอุปโภคบริโภคเป็นหลัก จ.ระยอง เพิ่มขึ้น 52 % ในด้านอุตสาหกรรมเป็นหลัก และ จ.ฉะเชิงเทรา เพิ่มขึ้น 12% ในด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก และความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC มีอัตราเพิ่มขึ้นของผู้ใช้น้ำ จาก 4 ล้านคน เป็น 6 ล้านคน โดยเฉพาะในเขต จ.ชลบุรี
ดังนั้น สทนช. จึงได้วางมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เขต EEC โดยมุ่งเน้นการกระจายน้ำให้ทุกภาคส่วน ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ปัญหาการขาดแคลนน้ำ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะเร่งด่วนในปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่ามีการขาดแคลนน้ำบางส่วน โดยขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม ในพื้นที่ชลบุรีและระยอง ในส่วนผู้ใช้น้ำนอกเครือข่ายน้ำ โดยปริมาณน้ำที่ขาดแคลนมีเพียงแค่ 1.23 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งสามารถใช้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ 2.ระยะกลาง ปี 2570 จะมีการวางแผนโดยหน่วยงานต่างๆ
อาทิ กรมชลประทาน ดำเนินการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำใหม่ ปรับปรุงแหล่งเก็บน้ำเดิม ปรับปรุงระบบเครือข่ายน้ำเดิม และการทำระบบสูบน้ำกลับเข้าไปในแหล่งน้ำเดิม กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการสำรวจขุดเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติม ซึ่ง สทนช. ได้ทำการศึกษาและจัดทำเป็นแผนงานเพื่อเสนอเพิ่มเติม เช่น การนำน้ำจากลุ่มน้ำบางปะกง หรือการสูบกลับที่อ่างฯ ประแสร์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำในโครงการชลประทานเดิม รวมทั้งมีการปรับปฏิทินการเพาะปลูกพืช ใน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งการดำเนินการได้ทำการจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนในแต่ละโครงการ
โดยจะทำให้มีปริมาณน้ำในช่วงปี 2563-2570 เพิ่มขึ้น 705 ล้าน ลบ.ม. พร้อมกับได้ทำการพัฒนาแผนงานออกเป็นทางเลือก เช่น โครงการการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ที่จะทำให้การใช้น้ำมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น 3) ระยะยาวปี 2580 จะมีการจัดทำระบบเครือข่ายน้ำเพิ่มเติม และมีการวางแผนการเพาะปลูกพืชใหม่ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง ใน จ.ฉะเชิงเทรา และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าร้อยละ 15-20 ของปริมาณน้ำเสีย ซึ่งภายในช่วงปี 2570-2580 จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 166 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับภาพรวมผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC เมื่อดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำระหว่างปี 2563-2580 จะส่งผลทำให้ ปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น 217 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 547 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 107 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกัน ยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำใน จ.จันทบุรีด้วย ได้แก่ อุปโภคบริโภค 45 ล้าน ลบ.ม. และเกษตรกรรม 270 ล้าน ลบ.ม. นอกจากปัญหาเสี่ยงขาดแคลนน้ำแล้ว พื้นที่ EEC ยังประสบกับปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในลุ่มน้ำบางปะกงเป็นหลัก สทนช. จะมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังมีปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม ซึ่งครอบคลุมบริเวณตั้งแต่แม่น้ำบางปะกงไปจนถึงแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ช่วยระบายน้ำมาเพื่อทำให้การรุกตัวของน้ำเค็มเจือจางลง และปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม
ในขณะนี้ทาง สทนช. ได้ศึกษาร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) ในการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อปรับปรุงและขยายระบบบำบัดน้ำเสียเดิมและก่อสร้างระบบน้ำเสียใหม่ พร้อมรณรงค์ให้มีการบำบัดน้ำเสียให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด ทั้งนี้ สทนช. จะเร่งนำเสนอแผนพัฒนาโครงการแหล่งน้ำต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อพิจารณา และจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการในขั้นตอนต่อไป
“สำหรับมาตรการการแก้ไขปัญหาน้ำในเขต EEC สทนช. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านน้ำ ได้มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างสอดคล้องและมีเอกภาพ รวมทั้งได้มีการจัดประชุมติดตามอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีความมุ่งหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ EEC ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมความต้องการใช้น้ำทั้งอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ในทุกพื้นที่ พร้อมสำหรับรองรับสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและการเติบโตในด้านต่าง ๆ ของพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศในอนาคตได้” ดร.สมเกียรติ กล่าว