พาณิชย์เล็งลุยตลาดเครื่องสำอางในจีน

26 พ.ย. 2562 | 05:55 น.

พาณิชย์ชี้ตลาดเครื่องสำอางจีนยังมีช่องว่าง เน้นเจาะตลาดเชิงรุกในมณฑลของจีนที่มีศักยภาพ มั่นใจสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลการศึกษาของ สนค. การนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของจีนและโอกาสทางการค้าของไทย พบว่า 9 เดือนแรกของปี 2562 จีนนำเข้าเครื่องสำอางมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีมูลค่า 12,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วน18.6%  ของการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของโลก) ขยายตัวสูงถึง 30.6%  โดยสินค้าที่อยู่ในขอบเขตการศึกษาประกอบด้วย 8 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้า 2. ผลิตภัณฑ์สำหรับผม 3.ผลิตภัณฑ์ใช้ดับกลิ่นตัว 4. น้ำหอม 5. ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอม 6.สบู่ 7. เอสเซนเชียลออยล์ และ 8.ผลิตภัณฑ์ใช้ในช่องปากหรือฟัน ทั้งนี้ แหล่งนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางที่สำคัญของจีน คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ การนำเข้าจาก 4 ประเทศ มีสัดส่วนประมาณ 75%  ของการนำเข้าเครื่องสำอางทั้งหมดของจีน สะท้อนว่าจีนมีการกระจุกตัวของแหล่งนำเข้าค่อนข้างสูง

พาณิชย์เล็งลุยตลาดเครื่องสำอางในจีน

เมื่อพิจารณาความนิยมการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของจีน พบว่ามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้า มากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 9,690.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีสัดส่วนประมาณ 80% ของการนำเข้าเครื่องสำอางของจีน ขยายตัว33.6 % ซึ่งชาวจีนนิยมแบรนด์พรีเมี่ยมจากต่างประเทศ รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์สำหรับผม มีมูลค่าการนำเข้า 529.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว37.7 % โดยนำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มากที่สุด ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ใช้ดับกลิ่นตัว น้ำหอม สบู่ และผลิตภัณฑ์ใช้ในช่องปาก มีมูลค่าการนำเข้า

ทั้งนี้มณฑลหลักที่จีนนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางกระจุกตัวใน 3 มณฑล คือ เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง และเจ้อเจียง คิดเป็น72.1 % ของการนำเข้าเครื่องสำอางทั้งหมด ดังนี้ เซี่ยงไฮ้ มีการนำเข้า 5,497.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจัยหลักมาจากรายได้สูงและมีประชากรวัยรุ่นและวัยทำงานมากถึง 18.2 ล้านคน รองลงมา คือ กวางตุ้ง มีการนำเข้า 2,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  และ เจ้อเจียง นำเข้า 1,608 ล้านดอลลาร์ ส่วนมณฑลอื่นๆ ยังมีการนำเข้าไม่มากนัก แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยด้านรายได้และโครงสร้างจำนวนประชากรวัยทำงานมาก คาดว่ามณฑลต่างๆ จะมีการนำเข้ามากขึ้น และเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกเครื่องสำอางของไทยเพิ่มเติมนอกเหนือจากหัวเมืองหลักข้างต้น ได้แก่ เทียนจิน ซึ่งมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 3 ของจีน และมีประชากรวัยรุ่นและทำงาน 12 ล้านคน เจียงซู มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 4 ของจีน และมีวัยทำงานและวัยรุ่นมากถึง 57 ล้านคน และซานตง มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 8 ของจีน และมีวัยทำงานและวัยรุ่นประมาณ 67 ล้านคน ตามลำดับ

 

ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางอันดับ 14 ของจีน มีมูลค่าการนำเข้า 145.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาด 0.9%  สินค้าเครื่องสำอางที่จีนนำเข้าจากไทยมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้า มีมูลค่าการนำเข้า 85.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯรองมา คือ ผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน และ ผลิตภัณฑ์สำหรับผม นอกจากนี้ การศึกษาพบว่าสินค้าเครื่องสำอางที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีน พิจารณาจากค่าความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (RCA) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน โดยไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของจีน  และสบู่ ซึ่งจีนมีมูลค่าการนำเข้าสบู่จากไทย 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“จีนเป็นตลาดเครื่องสำอางที่มีการเติบโตสูงมาก เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะพัฒนาศักยภาพและขยายช่องทางการส่งออกสินค้าที่ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงอยู่แล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน และสบู่ ควรส่งเสริมให้มีส่งออกไปยังตลาดจีนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งมณฑลหลักและมณฑลรอง สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกไปได้ดี แต่ขีดความสามารถในการแข่งขันยังไม่สูงนัก เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้า และผลิตภัณฑ์สำหรับผม ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น พฤติกรรมผู้บริโภค สินค้าของประเทศคู่แข่งที่ได้รับความนิยมกว่า เพื่อเป็นประโยชน์ในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชของจีนเป็นช่องทางจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าให้มากขึ้น”

ทั้งนี้การส่งออกเครื่องสำอางของไทยขยายตัวในตลาดโลกได้ดีต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางของไทยไปตลาดโลกในครึ่งแรกของปี 2562 นี้ มีมูลค่า 1,465.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 35.4 % โดยกระจุกตัวใน 3 สินค้า มากถึง 70%  ของการส่งออกเครื่องสำอางทั้งหมด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้า ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม และผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน ทั้งนี้ การส่งออกไปจีนขยายตัวสูงมาก โดยครึ่งปีแรก ขยายตัวสูงถึง 450.4 % และหากเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนแล้ว ในตลาดจีนไทยเป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น