บอร์ดบริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ทุบโต๊ะซื้อหนี้เกษตรกรยกเข่ง อุ้มสมาชิก 4.5 แสนราย บวกฟื้นฟูฯ รวมกว่าแสนล้าน ในโครงการ “บินก่อนผ่อนทีหลัง” เล็งเข้า ครม.เร็วๆ นี้ แนะรัฐผ่อนจ่าย 4 ธนาคารปีละ 2 หมื่นล้าน “ยศวัจน์” ยันคุ้ม หลักทรัพย์มากกว่าหนี้
กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จัดตั้งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ.2542 ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของเกษตรกร โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อมา ในปี 2544 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 (ฉบับที่ 2) โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับเดิม ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอันเนื่องมาจากโครงการส่งเสริมของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ภายใต้คณะกรรมการชุดใหม่ ปัจจุบันมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการรับผิดชอบดูแล ล่าสุดมีความคืบหน้าอย่างไรบ้างนั้น
นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล รองประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร คนที่ 1 เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปัจจุบันโครงสร้างของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ตาม พ.ร.บ. สมบูรณ์แล้วทางบอร์ดบริหารได้มอบนโยบายการจัดการหนี้สินให้เกษตรกรอย่างเร่งด่วนจัดทำแผน 2 เรื่อง ได้แก่ การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร โดยระเบียบได้ผ่านราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อย วันนี้ได้ให้ทางสำนักงานไปกำหนดหลักเกณฑ์แล้วเรื่องแผนฟื้นฟูฯ รื้อใหม่ทั้งหมด
ยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล
“ที่ผ่านมาแนวทางปฏิบัติเดิมไม่ต่างอะไรกับการออกคำสั่งให้เกษตรกรออกไปทำตามคำสั่ง เช่น กำหนดวงเงินงบประมาณให้ แนะอาชีพไป มองว่าทุ่มเท่าไรก็เจ๊ง ดังนั้นควรให้เกษตรกรเป็นคนกำหนดอนาคตเอง ว่าต้องการทำอาชีพอะไร ต้นทุนการผลิตเท่าไร ต้องให้ฟื้นฟูตามความเป็นจริง แต่หากแนวทางไหนดีก็ต้องทำต่อเนื่อง ส่วนสำนักงานคอยให้คำปรึกษาให้เดินภายใต้ระเบียบ เพราะใช้เงินงบของแผ่นดิน”
ปัจจุบันทางกองทุนได้มีการเจรจากับ 4 ธนาคารรัฐ ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ ไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้เกษตรกรที่มีหนี้กว่า 90% ไปเจรจาทำข้อตกลงว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระหนี้ของเกษตรกรซึ่งจะไม่กระทบต่อผู้ฝากเงิน และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นธนาคารในอนาคต เนื่องจากจะให้ธนาคารขอชดเชยจากรัฐบาล ซึ่งทางบอร์ดของธนาคารจะนำเรื่องนี้ไปเจรจากับรัฐบาล และส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบในโครงการ “บินก่อนผ่อนทีหลัง” เปรียบกับชาวนาไม่มีโอกาสนั่งเครื่อง บิน สื่อเหมือนกับให้นั่งเครื่องบินไปก่อน พอถึงจุดมุ่งหมายแล้ว ค่อยมาชำระเงินภายหลัง
“เมื่อเกษตรกรได้รับโอกาสแล้วค่อยมาพูดถึงเรื่องการฟื้นฟูอาชีพและการซื้อหนี้ทั้งหมด 4.5 แสนราย งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท (กราฟิกประกอบ) ภายในระยะเวลาโครงการ 5 ปี รัฐบาลไม่ต้องจ่ายทีเดียว จ่ายปีละ 2 หมื่นล้านบาท หากเจ้าหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ให้อีก รัฐบาลก็ลดภาระจ่ายลงไปอีก ถามว่าคุ้มหรือไม่ ผมคิดว่าคุ้ม เพราะราคาที่ดินต้องคูณด้วย 10 เท่า ยกตัวอย่างรัฐใช้เงินไป 1 หมื่นบาท วันที่เกษตรกรนำที่ดินไปคํ้าประกัน 10 ปีผ่านไปราคาที่ดิน ณ ตอนนั้นประเมินไว้ 1 แสนบาท ถ้าผ่านมา 10 ปีราคาที่ดินก็ต้องเพิ่มทวีคูณ”
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,527 วันที่ 1-4 ธันวาคม 2562