วัน 19 ม.ค. 63 นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยระหว่างลงพื้นที่ตรวจราชการก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2563 จ.นราธิวาส กล่าวว่า การดำเนินการโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทย ฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร บรรเทาความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากภัยพิบัติ ภัยธรรมชาติ และผลกระทบจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการตลาด ผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และเพื่อเป็นการสร้างอาชีพทางเลือกใหม่
ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์ให้สามารถจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะ แกะ ไก่พื้นเมือง โดยรัฐบาลมีประกันราคาและตลาดรองรับ ซึ่งหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และเอกชน ร่วมกันชี้แจงโครงการฯ ให้พี่น้องเกษตรกรได้รับทราบเข้าใจ รวมถึงสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ตลอดจนประสานหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการให้การสนับสนุน
เช่น บ่อบาดาลเพื่อการเกษตร พันธุ์พืชอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ ที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยการลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อชี้แจงขั้นตอนให้การดำเนินงานเป็นไปตามที่โครงการกำหนด และเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง และผู้เข้าร่วมโครงการฯ ถือปฏิบัติเพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการฯ บรรลุวัตถุประสงค์ มีผลสัมฤทธิ์ สามารถสร้างรายได้และมีอาชีพที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนต่อไป โดย ธ.ก.ส. อำนวยสินเชื่อวงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี โดยสนับสนุนสินเชื่อไม่เกินกลุ่มละ 10 ล้านบาท หรือดอกเบี้ยล้านละ 100 บาท/ปี ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 - 30 พ.ย. 65
“จ.นครศรีธรรมราช ถือเป็นจังหวัดแรกในภาคใต้ที่เริ่ม kick off ชี้แจงโครงการฯ ซึ่งที่ผ่านมาหลายจังหวัดในภาคใต้ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย รัฐบาลเล็งเห็นว่าการปลูกพืชใช้น้ำมากอาจมีปัญหาทำให้เกษตรกรขาดทุน ดังนั้นจึงเกิดโครงการดังกล่าวขึ้น เป็นโอกาสที่ดีที่พี่น้องเกษตรกรจะได้มีอาชีพที่สร้างรายได้ในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องรวมกลุ่มจดเป็นวิสาหกิจชุมชน 7-10 คน ” นายประภัตร กล่าว
สอดคล้องกับ นพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการและขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ ธกส. ตามโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ฯ มีดังนี้ 1.จดทะเบียนจัดตั้งกลุ่ม 1 ครัวเรือน 1 กลุ่ม และ 1 กลุ่ม 1 กิจกรรม 2.รับสมัครและเลือกเมนูอาชีพ โดยมีตลาดนำการผลิต 3.พิจารณาอนุมัติสินเชื่อ กลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท และ 4.ดำเนินการจัดซื้อ/จัดหาปัจจัยการผลิต
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มีการลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ระหว่างกรมปศุสัตว์ และ ธกส. เมื่อเดือน ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา และเริ่ม kick off ไปแล้วในหลายจังหวัด อาทิ ขอนแก่น สระแก้ว เชียงราย เชียงใหม่ สุพรรณบุรี และนครปฐม ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตกรจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายระยะที่ 1 โค 250,000 ตัว/ปี