ราคาลูกไก่พุ่งรอบ 10 ปี 11 รายขอนำเข้าแม่พันธุ์เอง

21 เม.ย. 2563 | 06:20 น.

ผู้เลี้ยงไก่ไข่ร้อง ราคาลูกไก่พุ่ง 26 บาทต่อตัว ทุบสถิติสูงสุดหลังเปิดเสรีนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ปี 2553 รายกลางดิ้นหนีเจ๊ง อ้อนกรมปศุสัตว์ขอเกลี่ยโควตาแผนนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ปี 2563 จาก 16 รายเดิม เปิดทาง 11 รายใหม่นำเข้าเอง หวังช่วยลดต้นทุนการเลี้ยง 10-30 บาทต่อตัว

นับตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เปิดเสรีนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ในปี 2553 ได้ส่งผลกระทบต่อราคาไข่ไก่ตกต่ำเรื่อยมา จนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยและรายกลางหลายรายต้องเลิกกิจการ ล่าสุดในปี 2563 มีการจำกัดปริมาณนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่ 4.4 แสนตัว สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้างนั้น

 

นายชัยพร สีถัน ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้รับความเดือดร้อนจากไม่มีลูกไก่ไข่เข้าเลี้ยง และมีราคาแพง โดยย้อนไปในปี 2560 คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (เอ้กบอร์ด) ได้เห็นชอบพิจารณาแผนการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ (GP) 6,000 ตัวและนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ 6 แสนตัว ส่งผลไข่ไก่ในประเทศราคาตกต่ำจากโอเวอร์ซัพพลาย ปี 2561 ปรับแผนการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์เหลือ 3,800 ตัว และพ่อแม่พันธุ์เหลือ 4.6 แสนตัว และปี 2562-2563 ได้มีมติเห็นชอบแผนการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์จำนวน 3,800 ตัว และพ่อแม่พันธุ์ลดเหลือ 4.4 แสนตัว และสำรองไว้ที่กรมปศุสัตว์อีก 2 หมื่นตัว เผื่อหากเกิดการขาดแคลน กรมปศุสัตว์จะได้มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยไม่ต้องส่งเรื่องเข้าเอ้กบอร์ดพิจารณาใหม่

ราคาลูกไก่พุ่งรอบ 10 ปี  11 รายขอนำเข้าแม่พันธุ์เอง

ชัยพร  สีถัน

                                     

จากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้ราคาลูกไก่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดย ณ วันที่ 16 เมษายน 2563 ราคาอยู่ที่ 26 บาทต่อตัว ซึ่งหากมีการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่มาเลี้ยงเองจะช่วยลดต้นทุนได้ตัวละ 10 บาท และเมื่อเลี้ยงเป็นแม่ไก่สาวจะลดต้นทุนต่อตัวเหลือ 30 บาท ดังนั้นทาง 11 บริษัทฟาร์มเกษตรกร จะขอนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่จำนวน 7.65 หมื่นตัวเอง (กราฟิกประกอบ) ล่าสุดได้ส่งหนังสือถึงนายมาโนช ชูทับทิม นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ หรือมิสเตอร์ไข่ไก่ เพื่อขอให้เกลี่ยสัดส่วนโควตา 4.4 แสนตัน จาก 16 รายเดิมที่ขอนำเข้า เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ทั้งนี้หากได้รับอนุญาตจะใช้ระบบเอ็มโอยูฝากเลี้ยงกับผู้ประกอบการที่นำเข้า 1 ใน 16 รายเดิม

“ขณะเดียวกันอยากให้กระทรวงพาณิชย์เปิดราคาต้นทุนอาหารสัตว์ให้สาธารณชนรับทราบ เนื่องจากค่าต้นทุนอาหารเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เกษตรกรขาดทุนหรือมีกำไร จากปัจจุบันราคาอาหารสัตว์แพงมาก บางรายถูกบังคับซื้อพ่วงลูกไก่ไม่เป็นธรรมกับเกษตรกร”

 

อนึ่ง กรมปศุสัตว์เปิดแผนนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ ในปี 2563 จำนวน 4.4 แสนตัว ผู้นำเข้ามากสุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือซีพีเอฟ, บริษัท อาหารเบทเทอร์ จำกัด (บจก.) เครือเบทาโกร, บจก.แหลมทองฟาร์ม, บจก.ฟาร์มไก่พันธุ์เกิดเจริญ และ บจก.ฟาร์มกรุงไทย ตามลำดับ

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,567 วันที่ 19 - 22 เมษายน พ.ศ. 2563