โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ของการบินไทย ที่ใช้เวลากว่า 2 ปีในการเจรจากับบริษัท Airbus S.A.S หรือแอร์บัสเข้ามาร่วมลงทุน แต่สุดท้ายต้องปิดฉากลง เพราะผิดเงื่อนไข ไม่คุ้มค่าลงทุน แถมเจอพิษการระบาดของไวรัสโควิดทำผิดสมมติฐาน
แหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า แอร์บัสได้ปฏิเสธการเข้าร่วมทุนมาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ก่อนถึงกำหนดในการยื่นข้อเสนอของแอร์บัสวันที่ 20 เมษายน2563
เนื่องจากแอร์บัสได้ทำหนังสือแจ้งมายังการบินไทยอ้างถึงหนังสือฉบับลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 และวันที่ 3 มีนาคม 2563 แอร์บัสได้ข้อสรุปต่อเอกสารการคัดเลือกเอกชนว่า
“การร่วมลงทุนไม่สามารถประสบความสำเร็จในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อกำหนดในด้านต้นทุน (COST) กลไกในการสร้างรายได้ (revenue mechanism) การกำหนดราคา (Pricing) และการบริหารจัดการ (Governance) ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขหลักที่ได้ตกลงกันไว้”
นอกจากนี้การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังทำให้ยากต่อการจัดทำข้อเสนอบนสมมุติฐานที่ได้กำหนดไว้ และยากต่อการสร้างความมั่นใจว่าการลงทุนของการบินไทยและแอร์บัสจะสามารถนำมาซึ่งรายได้และผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสม
ทั้งแอร์บัสยังเสนอการแสวงหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุดในการร่วมงานกัน โดยเพิ่มเติมกิจกรรมต่างๆ เช่น การฝึกอบรม การวิจัย และบริการด้านอื่นๆ
อย่างไรก็ตามสิ่งที่แอร์บัสชัดเจนว่าจะไม่มีการร่วมทุนเกิดขึ้น แต่ก็จะเกิดความร่วมมือในลักษณะที่แอร์บัสจะขายเทรนนิ่งคอร์ส หรือบริการที่เกี่ยวข้อง
แหล่งข่าวยังกล่าวต่อว่า หนังสือของแอร์บัสฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการร่วมลงทุนไม่สามารถประสบความสำเร็จในระยะยาว เป็นข้ออ้างมากกว่า เพราะในการเจรจายังไม่ได้มีการลงลึกถึงข้อกำหนดทั้งด้านต้นทุน หรือราคาแต่อย่างใด แต่เข้าใจว่าเบื้องลึกที่แอร์บัสปฏิเสธมาจาก 2 สาเหตุ
ได้แก่ 1.เดิมการบินไทยตกลงกับแอร์บัสว่าจะร่วมกันพัฒนาโครงการดังกล่าว คู่สัญญาก็จะเป็นการร่วมมือระหว่างแอร์บัส และการบินไทยแต่เมื่อถึงกระบวน การเจรจาเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)กลายเป็นว่าทั้งการบินไทยและแอร์บัส ต้องไปจดทะเบียนตั้งบริษัทร่วมกัน
จากนั้นจะต้องนำบริษัทที่ตั้งขึ้นไปเซ็นสัญญาเช่าที่ดินกับอีอีซี โดยมีภาระค่าเช่าในอัตรา 3%ต่อปีของมูลค่าการลงทุน 7 พันล้านบาท ที่รัฐบาลโดยกองทัพเรือเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้ เช่น โรงซ่อมเครื่องบิน(แฮงการ์) พร้อมส่วนแบ่ง 1% ของ รายได้ต่อปี ซึ่งแอร์บัสก็ต้องการจ่ายค่าเช่าที่ถูกแต่เช่าถูกก็จะโดนข้อครหาเพราะเป็นทรัพย์สินของรัฐทำให้ตกลงกันไม่ได้และแอร์บัสมองว่าเป็นการผูกมัดเกินไป
2.ในช่วงที่ผ่านมาแอร์บัสได้มีการเปลี่ยนผู้บริหารโดยชูการตลาดมาเป็นตัวนำ หวังว่าในแผนการจัดหาเครื่องบิน 38 ลำของการบินไทย จะมีเครื่องบินของ แอร์บัสแต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิดการบินไทยก็ต้องล้มแผนจัดหาเครื่องบินไป
ทั้ง ๆ ที่การลงทุน MROอู่ตะเภาจริงๆ การบินไทยและแอร์บัส ลงทุนบริษัทละ 2 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งการลงทุนไม่ใช่ปัญหา อีกทั้งก่อนหน้านี้แอร์บัสก็เคยศึกษาว่าโครงการนี้คุ้มค่าวันนี้แอร์บัสก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการเกิดMROในไทยเพราะที่ผ่านมาทางการบินไทยเองก็มีโนฮาว และมีการออกแบบของโครงการMRO ที่มีการทำงานร่วมกับแอร์บัส มาแล้วก่อนหน้านี้ ดังนั้นการบินไทยก็สามารถนำมาปรับใช้ในการเดินหน้าลงทุน MRO ได้อยู่แล้ว
การบินไทย จะต้องนำเรื่องเสนอบอร์ดภายในเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อพิจารณาการดำเนินการลงทุนMRO ต่อไป ตามแนวทางที่เหมาะสมใน 3 แนวทางได้แก่ 1.การหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ 2.การบินไทยลงทุนเองทั้งหมด และ3.การบินไทยลงทุนก่อน และทยอยหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งแม้แอร์บัสจะปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้ทำให้โครงการนี้ล่าช้าออกไป เพราะโควิดทำให้สายการบินต้องจอดพักเครื่องบินเป็นจำนวนมาก อายุการซ่อมบำรุงก็จะยืดออกไป และกว่าMRO จะเปิดให้บริการก็อยู่ในช่วงปี2566-2567 สถานการณ์ธุรกิจการบินก็คงฟื้นตัวแล้ว
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,570 วันที่ 30 เมษายน - 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2563