นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) หักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 1,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 20.18% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามไปกว่า 210 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศล็อกดาวน์ ทำให้การขนส่งระหว่างประเทศและในประเทศทำได้ไม่สะดวก ขณะที่ความต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง ทำให้มีการชะลอการสั่งซื้อ แต่บางประเทศที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ก็เร่งการนำเข้าเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากดูเฉพาะทองคำ พบว่า มีการส่งออกสูงถึง 3,879.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 220.91% จากการส่งออกไปเก็งกำไรส่วนต่างของราคา เนื่องจากราคายังทรงตัวอยู่ในระดับสูง และผลจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ทำให้คนหันมาซื้อทองคำเพิ่มขึ้นในฐานะทรัพย์สินปลอดภัย
ส่วนสินค้าอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น พลอยก้อน เพิ่ม 200.22% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่าและเศษโลหะมีค่า เพิ่ม 319.30% แต่เครื่องประดับเงิน ลด 9.39% เครื่องประดับทอง ลด 26.69% เครื่องประดับแพลทินัม ลด 7.85% เพชร ลด 26.01% เพชรก้อน ลด 23.15% เพชรเจียระไน ลด 26.22% พลอยสี ลด 33.68% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน ลด 44.13% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลด 28.42% เครื่องประดับเทียม ลด 20.77%
สำหรับตลาดส่งออก รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช เพิ่มสูงสุด 127.35% รองลงมา คือ อาเซียน เพิ่ม 68.48% อินเดีย เพิ่ม 30.63% ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก เพิ่ม 12.17% สหรัฐฯ เพิ่ม 6.84% และญี่ปุ่น เพิ่ม 1.43% ซึ่งการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการที่ผู้นำเข้าเร่งนำเข้า เพราะกังวลว่าจะมีการหยุดกิจการและปิดประเทศจากโควิด-19 ส่วนตลาดที่ลดลง จีนลด 61.50% ฮ่องกง ลด 53.21% กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ลด 12.92% และสหภาพยุโรป ลด 8.62%
“สถานการณ์การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ยังคงมีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 โดยสหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรปยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งน่าจะกระทบต่อการส่งออก แต่ในส่วนของจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ที่สามารถควบคุมการระบาดได้ และเริ่มผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ น่าจะเป็นสัญญาณดีต่อการส่งออกของไทยในไตรมาสถัดไปที่น่าจะเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องติดตามใกล้ชิด เพราะการแพร่ระบาดยังไม่แน่นอน”
นอกจากนี้ ผลจากการแพร่ระบาด ทำให้เกิดการใช้ชีวิตวิถีใหม่ โดยคนมีการติดต่อกันน้อยลง ทำให้การค้าออนไลน์ ขยายตัวมากขึ้น และเข้ามาแทนที่การค้าแบบปกติ ซึ่งผู้ประกอบการไทยจะต้องมีการปรับตัว และหันมาใช้ช่องทางนี้ในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น การนัดหมายล่วงหน้าแล้วเข้ามาดูสินค้า หรือใช้วิธีไลฟ์สดให้ลูกค้าเห็นของจริง เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้า รวมทั้งใช้สื่อออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์สินค้า เช่น Facebook , Instagram หรือ YouTube เป็นต้น เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภ