นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จำนวนม้าในไทย มีประมาณ 13,000 กว่าตัว มีคนเลี้ยงมีประมาณ 2,000 กว่าราย ซึ่งไทม์ไลน์ของการเกิดโรค ก็คือ วันที่ 25 มีนาคม ในช่วงเย็น ได้รับแจ้ง วันที่ 26 มีนาคม ลงพื้นที่สอบสวนโรค ผลจากการสอบสวนพบว่า ม้าป่วยตายตั้งแต่ 14 ก.พ.แล้ว แต่ “หมอม้า” เจ้าของ ไม่แจ้งกรมปศุสัตว์
ต่อมามีประกาศควบคุมการนำเข้า เคลื่อนย้าย การป้องกัน และฉีดวัคซีนจนถึงตอนนี้ระบาดน้อยลง แต่ถ้ารู้เรื่องเร็ว จะควบคุมโรคได้เร็ว แล้วการฉีดวัคซีน ก็ได้รับการบริจาคของ “Maxwin” ได้วัคซีนมา 4000 โดส ที่รับบริจาคเพราะ หากทำเรื่องจัดซื้อ จัดจ้าง ตามระเบียบ ต้องใช้เวลา 5-7 วัน แต่ตอนนี้ทำเรื่องจัดซื้อเพิ่มเอง นำเข้าเพิ่มอีก 4000 โดส
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวถึง กรมปศุสัตว์ โดยเจ้าหน้าที่ทำงานไม่มีวันหยุดนับตั้งแต่เกิดเรื่อง ซึ่งปัจจุบันผลการดำเนินงานการติดตั้งมุ้งให้มาในพื้นที่รัศมี 100 กิโลเมตร จุดเกิดโรคแล้ว 809 ราย จากจำนวนเจ้าของทั้งหมด 1,570 ราย คิดเป็น (ร้อยละ 51.53) ซึ่งม้าที่อยู่ในมุ้งแล้ว 6,185 ตัว จากม้าทั้งหมดในพื้นที่ 11,125 ตัว คิดเป็นร้อยละ 55.60 ที่เหลือจะฉีดในจุดเสี่ยง หรือรอบพื้นที่ 50 กิโลเมตร ที่ระบาด
“สาเหตุที่ทำให้โรคกาฬโรคระบาดหนัก เพราะมีการแจ้งช้า บวกกับการเกิดพายุฤดูร้อน ต้องระวังโดยเฉพาะลิ้น และใช้มุ้งที่มีความถี่ติดตั้งมุ้งไปแล้ว 60% ได้รับบริจาคมุ้งจากสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย ผนวกกับกรมปศุสัตว์จัดซื้อด้วย และประกอบสัตวแพทย์ที่ดูแลม้าก็บริจาคมาสมทบ”
อย่างไรก็ดีสาเหตุของโรคยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด ซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากม้าลาย ซึ่งกระบวนการสอบสวนทางระบาดวิทยา ต้องรอบด้าน ตอนนี้ข้อมูลยังไม่เพียงพอ จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ เฝ้าระวังโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า(AHS) เจาะเลือดม้าลายทุกฝูงในประเทศ มีประมาณ 500 กว่าตัว เพื่อตรวจสอบโรค ซึ่งการเจาะเลือดและตรวจโรคม้าลายไม่ง่าย เพราะต้องเป็นสัตวแพทย์สัตว์ป่าเฉพาะทาง
“ม้าลายอยู่ในการดูแลของใคร? ซึ่งต้องย้อนไปก่อนวันที่ 8 เมษายน 2563 ม้าลายไม่ได้อยู่ในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ของกรมปศุสัตว์ การนำเข้าส่งออก ตรวจโรค จึงไม่ได้เป็นหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ “ม้าลาย” อยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองในบัญชีไซเตส บัญชี 2 ซึ่งอยู่ในความดูและของ "กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช" ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ม้าลาย ได้เป็นสัตว์ที่กำหนดตามประกาศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้อยู่ในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ ทำให้กรมปศุสัตว์มีอำนาจในการตรวจสอบดูแลตามขั้นตอนอย่างละเอียด
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวหลังจากเป็นสัตว์ที่ขึ้นบัญชีของกรมปศุสัตว์แล้ว จากเคยตาย 24 ตัว แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 3-0 ตัว / วัน ม้าที่ คาดว่าจะได้รับเชื้อ 574 ตัว และตอนนี้มียอดตายสะสม 534 ตัว เป้าหมาย คือ ช่วยชีวิตม้าให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด
“ ระยะของโรคแอฟริกาในม้า มี 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะ "เกิดเหตุ" ซึ่งตอนนี้เราอยู่ในระยะนี้ 2. ระยะ "เฝ้าระวังและป้องกันอุบัติซ้ำ" หากไม่มีการตาย ครบ 30 วัน โดยตอนนี้ทุกจังหวัดต้องมีการขึ้นทะเบียนม้า และ 3. ระยะ "ขอคืนสถานภาพการปลอดโรคจากโครงการสัตว์ระหว่างต่างประเทศ" = เนื่องจากกรมปศุสัตว์มีการรายงานเรื่อง และเข้าควบคุมโรคได้เร็ว หากควบคุมได้สำเร็จ สามารถขอคืนสถานภาพได้ คาดภายในเดือนนี้ โรคสงบแน่นอน