จาก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท Hy-line International จากสหรัฐอเมริกา และบริษัท Lohmann Tierzuchi GmbH จากเยอรมนี จะขอตั้งโรงงานผลิตปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่(หรือ GP ซึ่งเป็นต้นทางของการผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ หรือ PS ในไทย) เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (27 ม.ค.63) ได้มีมติให้ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบ ล่าสุดมีความคืบหน้าตามลำดับ
ศาสตราจารย์ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบการตั้งฐานการผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ในประทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เพื่อนัดประชุมหารือผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้ข้อมูลประกอบการพิจารณาถึงผลกระทบหาก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวมาตั้งฐานการผลิตเพื่อส่งออกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร
ทั้งนี้กรอบแนวทางเรื่องนี้กรมปศุสัตว์ได้วางไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคมแล้ว แต่ติดปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดทำให้ไม่สามารถจัดประชุมได้ตามแผน เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงจะได้จัดประชุมวาระแรกในวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ซึ่งผลการศึกษาจะสิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน เมื่อได้ผลอย่างไรแล้วจะนำเสนอเอ้กบอร์ดเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ 2 บริษัทมาตั้งฐานการผลิตส่งออก GP ไปประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่
ปัจจุบันมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ นำเข้า GP เพียงรายเดียว จำนวน 3,800 ตัว ขณะที่ทั้ง 2 บริษัทจะขอผลิต GP ในไทยประมาณ 1.52 หมื่นตัว หรือมากกว่าที่ซีพีเอฟนำเข้ามาเลี้ยงถึง 4 เท่า มองว่าถ้าผลิตแล้วส่งออกเลยก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ที่หลายภาคส่วนมีความกังวลคือเกรงผลผลิตจะหลุดรอดออกมาขายในประเทศซ้ำเติมทำให้อุตสาห กรรมไก่ไข่ของไทยราคาตก ดังนั้นจะขอให้กรมปศุสัตว์ ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ในคณะนี้อีกชุดหนึ่งเพื่อประเมินผลกระทบว่าถ้ามีหลุดออกไปในตลาดในประเทศจะมีผลกระทบอย่างไร โดยให้ฉายภาพผลกระทบจากเบาสุดไปถึงรุนแรงสุด
แหล่งข่าวผู้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) เผยว่า หากอนุญาตให้ทั้ง 2 บริษัทมาดำเนินกิจการในไทยคาดซีพีเอฟจะกระทบหนัก เพราะ 2 บริษัทเป็นเครือข่ายที่ซีพีเอฟซื้อ GP มาเลี้ยง ซีพีเอฟอาจต้องขายกิจการส่วนผลิตปู่ย่าพันธุ์ทิ้ง เพราะต้นทุนอาจสู้คู่แข่งไม่ไหว
สุเทพ สุวรรณรัตน์
สอดคล้องกับนายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ ที่กล่าวว่า อย่ามาเปิดในไทยเลย เพราะทุกวันนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ก็แบกต้นทุนสูง ยิ่งช่วงแล้งน้ำไม่พอต้องซื้อน้ำเลี้ยงไก่ ถ้า 2 บริษัทมาปักฐานเกษตรกรไทยคงจะได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ดังนั้น 2 บริษัทหากอยากจะผลิตส่งออกหรือขายประเทศใด ก็ให้ไปตั้งฐานการผลิตประเทศนั้นเลย ไม่ต้องมายุ่งกับเมืองไทย
อนึ่ง ที่ประชุมเอ้กบอร์ด(27 ม.ค.63) มีมติเห็นชอบแผนการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ปี 2563 ตามที่กรมปศุสัตว์เสนอ จำนวน 3,800 ตัว และพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) จำนวน 4.4 แสนตัว และสำรองไว้ที่กรมปศุสัตว์อีก 2 หมื่นตัว ราคาไข่ไก่ คละหน้าฟาร์ม ณ ปัจจุบัน (18 พ.ค.63) อยู่ที่ 2.40 บาทต่อฟอง
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,576 วันที่ 21 - 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563