วันที่ 28 พฤษภาคม 2563 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า จากประเด็นสถานการณ์และการดำเนินการแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า นั้น ทาง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความใส่ใจในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ต้นมาอย่างสูง และได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์มีการรายงานคุมโรคในวงจำกัด ให้เร็วที่สุดเพื่อให้ม้าในประเทศปลอดภัยมากที่สุดและคืนสภาพปลอดโรคจาก OIE (Country free from) ภายใน 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness: AHS) จากการสำรวจในประเทศไทย มีผู้เลี้ยงม้าจำนวน 2,987 ราย ม้าจำนวน 16,890 ตัว
พบการเกิดโรคในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ชัยภูมิ ราชบุรี สระแก้ว สระบุรี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก และฉะเชิงเทรา มีม้าป่วยสะสมจำนวน 592 ตัว มีม้าตายจำนวน 550 ตัว (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2563) เกิดโรคมากที่สุดที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันมีแนวโน้มการเกิดโรคที่ลดลง สามารถควบคุมโรคได้ในวงพื้นที่จำกัด ไม่พบมีม้าตายติดต่อกัน 3 วันแล้ว กรมปศุสัตว์ได้รับแจ้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 และได้เร่งร่วมหารือบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. การแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานต่างๆ เพื่อดำเนินการ 6 คณะ ได้แก่ 1.1 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 546/2563 ลงวันที่ 15 เมษายน 2563 ลงนามโดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กษ. เพื่อเร่งดำเนินการกำหนดนโยบายและแนวทางแก้ไขปัญหาโรค AHS
1.2 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) ในม้าลาย ตามคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่ 2/2563 ลงวันที่ 27 เมษายน 2563 เพื่อการสอบสวนหาสาเหตุทางระบาดวิทยา และเฝ้าระวังการเกิดโรคในม้าลาย
1.3 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการเกิดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ตามคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่ 1/2563 ลงวันที่ 27 เมษายน 2563 เพื่อดำเนินงานตามแนวทางและนโยบายแก้ไขปัญหาโรค AHS
1.4 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการใช้วัคซีนกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ตามคำสั่งกรมปศุสัตว์ที่ 376/2563 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563 เพื่อพิจารณาการใช้วัคซีนให้เป็นตามกฎ ระเบียบและสอดคล้องตามหลักวิชาการของ OIE
1.5 แต่งตั้งคณะทำงานสัตวแพทย์ปฎิบัติการ ตามคำสั่งคณะอนุกรรมการฯ ม้าลาย ที่ 1/2563 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 เพื่อปฏิบัติงานพื้นที่ภาคสนามในการเฝ้าระวังและดำเนินการตามแนวทางแก้ไขโรคในม้าลาย
1.6 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวิชาการเฝ้าระวังโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า ที่มีแมลงเป็นพาหะ ตามคำสั่งคณะกรรมการฯ ที่ 3/2563 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 เพื่อกำหนดแนวทางด้านการเฝ้าระวังโรค AHS ในม้า ที่มีแมลงเป็นพาหะ ศึกษา วิจัยและพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้อง
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวอีกว่า ยังได้ทำแผนปฏิบัติการกำจัดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า เพื่อคืนสภาพปลอดโรคของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 คือระยะเผชิญเหตุ (กำลังอยู่ในระยะนี้) ระยะที่ 2 คือการเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรคอุบัติซ้ำ และระยะที่ 3 คือการขอคืนสภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ภายระยะเวลาใน 2 ปี
ควบกับมาตรการการฉีดวัคซีนป้องกันโรค AHS ในม้า ในพื้นที่ 19 จังหวัด ภายในรัศมี 50 กิโลเมตรรอบจุดเกิดเหตุ ดำเนินการแล้ว 5,076 ตัวจากเป้าหมาย 7,999 (คิดเป็นร้อยละ 63.45) ข้อมูลวันที่ 27 พฤษภาคม 2563และ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดสัตว์ชนิดอื่น โดยเพิ่มเติมให้ ม้าลายและรวมถึงสัตว์ในวงศ์อีไควดี เป็นสัตว์ภายใต้ พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ขั้นตอนการนำเข้าม้าลายก่อนและหลัง วันที่ 8 เมษายน 2563 โดยร่วมกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมศุลกากร
นอกจากนี้ยังมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง แต่งตั้งสัตวแพทย์ตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2561 โดยแต่งตั้งให้นายสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นสัตวแพทย์ตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 โดยมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการเฉพาะในส่วนของสัตว์หรือซากสัตว์ ประเภทสัตว์ป่า
สั่งการสำรวจม้าลายในประเทศไทยจำนวน 541 ตัว ผู้เลี้ยงม้าลาย 24 ราย จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค AHS การสำรวจติดตามโรค วางยาสลบและเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อส่งวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ เฝ้าระวังโรคในสัตว์ที่เป็นตัวบ่งชี้การระบาดของโรค เช่น ม้า ลา ล่อ มีมาตรการด้านการขนส่งหรือเคลื่อนย้ายสัตว์ การควบคุมแมลงพาหะ และการแต่งตั้งคณะทำงานสัตวแพทย์ปฏิบัติการเพื่อลงพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยขณะนี้ได้ลงพื้นที่สุ่มเก็บตัวอย่างเลือดในม้าลาย ส่งตรวจที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสอบสวนสาเหตุทางระบาดวิทยาต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อร่วมบูรณาการทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน สมาคม และมหาวิทยาลัยในการแก้ไขปัญหาโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าของประเทศไทย ร่วมคลี่คลายสถานการณ์ในระยะเวลาให้สั้นที่สุด ควบคุมสถานการณ์และการเกิดโรคให้อยู่ในวงพื้นที่จำกัด ลดการสูญเสียและผลกระทบให้น้อยที่สุด เร่งคืนสภาพปลอดโรคจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกให้ประเทศไทยโดยเร็วที่สุด และขอความร่วมมือผู้เลี้ยงม้าหากพบการเจ็บป่วยหรือตาย แจ้งสายด่วนกรมปศุสัตว์ทันทีที่ 063-2256888