กยท.แจ้งเกิดตลาดกลางยางพารา ระยอง ใหม่แห่งที่ 7

29 พ.ค. 2563 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2563 | 10:04 น.

กยท.เดินหน้าเปิด“ตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยอง” เป็นศูนย์กลางซื้อ–ขายยางภาคตะวันออกวางฐานรองรับการพัฒนายางภาคตะวันออกและขยายตัวEEC ย้ำ คัดคุณภาพยางก่อนส่งมอบ มั่นใจราคายางเป็นธรรม

ปัจจุบันตลาดกลางยางพารา เป็นที่ทราบกันดีว่ามีอยู่ 6 แห่ง ได้แก่ตลาดกลางยางพาราสงขลา,ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี,ตลาดกลางยางพาราหนองคาย,ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช,ตลาดกลางยางพารายะลา, ล่าสุดตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยอง

กยท.แจ้งเกิดตลาดกลางยางพารา ระยอง ใหม่แห่งที่ 7

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ด้านธุรกิจและปฏิบัติการ เผยว่า กยท. ได้ดำเนินการจัดตั้งตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยองขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการซื้อขายยางพาราในภาคตะวันออก( 27 พ.ค.) ได้จัดการประชุมเสวนาผู้ซื้อ – ผู้ขาย เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และระเบียบการซื้อขาย ของตลาดกลางแห่งนี้ ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยอง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง โดยมีนายปิยะ ปิตุเดชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เป็นผู้ส่งมอบตลาดยางแห่งนี้ให้ กยท. เข้ามาดูแลดำเนินงานรับผิดชอบในรูปแบบตลาดกลางยางพาราต่อไป

ภาคตะวันออกมีพื้นที่ปลูกเป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีการปลูกยางพารากระจายอยู่แทบทุกจังหวัด ประกอบด้วย ระยอง จันทบุรี ตราด ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีพื้นที่สวนยางที่กรีดได้ประมาณ 2.5 ล้านไร่ ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 6.5 แสนตันต่อปี จังหวัดระยองถือเป็นจุดภูมิศาสตร์ที่มีความเข้มแข็ง เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงยางไปยังผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งมีอยู่มากในบริเวณปริมณฑลและภาคตะวันออก

กยท.แจ้งเกิดตลาดกลางยางพารา ระยอง ใหม่แห่งที่ 7

มีเขตนิคมอุตสาหกรรม สามารถช่วยพัฒนาด้านการตลาดยางพารารองรับการขยายตัวตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาล ดังนั้น การจัดตั้งตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญเพื่อเป็นศูนย์กลางซื้อขายยางพาราภาคตะวันออก สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ยางพาราชาติ ยกระดับราคายางให้มีเสถียรภาพ

นายณกรณ์  กล่าวว่า ตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยองเปิดให้บริการทุกวันทำการ มีการให้บริการ 2 รูปแบบ คือ ให้บริการ ณ สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดระยอง อ.วังจันทร์ แต่เกษตรกรที่อยู่ไกลจากตลาด สามารถสมัครเป็นตลาดเครือข่ายตลาดกลางได้ ในปี 2563 ยางที่ซื้อขายผ่านตลาดกลางฯ ได้แก่ ยางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควัน ส่วนปี 2564 จะเริ่มเปิดให้บริการตลาดกลางน้ำยางสดและยางก้อนถ้วย เพื่อให้ครอบคลุมผลผลิตของเกษตรกร และสอดคล้องกับความต้องการตลาด คาดว่าจะมีปริมาณยางผ่านตลาดแห่งนี้ประมาณ 12,000 ตันต่อปี

กยท.แจ้งเกิดตลาดกลางยางพารา ระยอง ใหม่แห่งที่ 7

“จุดเด่นของตลาดกลางฯ คือสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย น้ำหนักยางที่เที่ยงตรง มีการกำหนดมาตรฐานยางที่ชัดเจน มีการคัดคุณภาพยางก่อนส่งมอบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย และให้ซื้อขายยางได้ในราคาที่เป็นธรรม”