thansettakij
จับตา “การบินไทย” สถาบันบัณฑิตฯ "ศศินทร์" แนะ3ประเด็น ฟื้นฟูกิจการ

จับตา “การบินไทย” สถาบันบัณฑิตฯ "ศศินทร์" แนะ3ประเด็น ฟื้นฟูกิจการ

31 พ.ค. 2563 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มิ.ย. 2563 | 06:47 น.

สถาบันบัณฑิตฯ“ศศินทร์” แนะจับตา 3 ประเด็น "แผนฟื้นฟู" “การบินไทย” ทั้งผู้ทำแผน ตัวแผน และผู้บริหาร ชี้เป็นปัญหาที่ไม่แตกต่างจากสายการบินอื่นทั่วโลก

สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ ออกบทความเรื่องโอกาสในวิกฤต โควิด-19 (COVID-19) โดยระบุว่า นโยบายการ “ล็อกดาวน์” (Lockdown) ที่ทั่วโลกใช้ต่อสู้ไวรัสโควิด-19 มีการปิดประเทศแทบจะทั่วโลก ส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างมาก สายการบินต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ ประสบปัญหาการเงินอย่างหนักจนทำให้บางสายการบินประกาศปลดพนักงานเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น สายการบิน Emirates และ สายการบิน Air Canada บางสายการบินประกาศล้มละลาย และพยายามที่จะหานักลงทุนรายใหม่ที่สนใจซื้อกิจการรวมถึงขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในประเทศของตน

และสุดท้ายก็เลือกเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการโดยผ่านศาลล้มละลาย ณ ปัจจุบันมีสายการบินที่ได้ยื่นเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว ตัวอย่างเช่น สายการบิน Virgin Australia ซึ่งเป็นสายการบินที่ใหญ่ลำดับ 2 ของประเทศออสเตรเลีย สายการบิน Avianca สายการบินของประเทศโคลัมเบีย  ซึ่งนับเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในซีกโลกตะวันตก และสายการบินไทย เป็นต้น

จับตา “การบินไทย” สถาบันบัณฑิตฯ \"ศศินทร์\" แนะ3ประเด็น ฟื้นฟูกิจการ

ในกรณีของบริษัท "การบินไทย" มีผลการดำเนินงานย่ำแย่ไม่สามารถทำกำไรได้ติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี มีปัญหาขาดทุนสะสมและเป็นหนี้สินจำนวนมหาศาลตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 แล้ว วิกฤตในครั้งนี้เปรียบเสมือนตัวเร่งที่สะท้อนให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ถึงปัญหาของสายการบินแห่งนี้ที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังในอดีต  ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงปัญหาของสายการบินไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ

พบว่าไม่ได้แตกต่างจากปัญหาของสายการบินแห่งชาติอื่น ๆ และยังมีความสอดคล้องกับต้นทุนในการบริหารองค์กรของรัฐหรือค่าใช้จ่ายระบบราชการ (bureaucracy costs) นำเสนอ โดย Gary Hamel และ Michele Zanini  ใน Harvard Business Review ว่าต้นทุนในการบริหารองค์กรของรัฐหรือค่าใช้จ่ายระบบราชการ (bureaucracy costs) ในประเทศสหรัฐอเมริกาสูงกว่า 3 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายระบบราชการครอบคลุมถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้ โครงสร้างองค์กรซับซ้อน มีชั้น (Layer) ระดับผู้บริหารและระดับผู้จัดการที่มากเกินความจำเป็น ระบบการตัดสินใจเชื่องช้าอันเนื่องมาจากการมีรายละเอียดของงานมีความยุ่งยากมากส่งผลให้กระบวนการตัดสินใจทำได้ยากและช้ากว่าคู่แข่ง

จากโครงสร้างองค์กรที่มีหลายขั้นตอน ทำให้มีความไม่แน่นอนและใช้เวลากับการแก้ปัญหามากเกินความจำเป็น มีกฎระเบียบและข้อบังคับมากเกินไป ทำให้ขาดความเป็นอิสระ ทุกคนสวมหมวกกันน็อค ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจเพราะกลัวความเสี่ยงและไม่อยากรับผิดชอบ ทำให้เกิดความเฉื่อยซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงรุก ผู้บริหารและคณะกรรมการบอร์ดที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ได้รับอำนาจและอิทธิพลเพราะเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ของบริษัท

              วิกฤตโควิด-19 เปรียบเสมือนโอกาสที่ให้สายการบินแห่งชาตินี้เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือที่เรียกกันว่า Chapter  11 เร็วขึ้น และมีโอกาสที่จะได้มีการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ของการบินไทยที่ได้รับการสะสมมาช้านานอย่างเป็นรูปธรรม เปิดโอกาสให้มี การปรับโครงสร้างหนี้กว่า 3.5 แสนล้านบาทและปรับโครงสร้างองค์กรใหม่โดยผ่านระบบของศาลล้มละลาย แต่ประเด็นสำคัญที่ควรจับตามอง 3 ประเด็นดังนี้ คือ

            1.ผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการให้กับสายการบินแห่งชาติแห่งนี้ (Planner) เป็นที่ยอมรับจากเจ้าหนี้และลูกหนี้หรือไม่

            2.ตัวแผนฟื้นฟูกิจการ (Plan) จะเป็นที่ยอมรับจากเจ้าหนี้ ลูกหนี้ สหภาพการบินไทย ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ (other stakeholders) มากน้อยเพียงใด จะสามารถประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายภายใต้เงื่อนไขที่การบินไทยจะต้องกลับมาสร้างรายได้และทำกำไรได้อีกครั้ง

            3.ผู้บริหารแผน (Plan Administrator) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นแรงผลักที่จะช่วยให้บริษัทการบินไทยสามารถผ่านกระบวนการฟื้นฟูนี้ได้สำเร็จ

จับตา “การบินไทย” สถาบันบัณฑิตฯ \"ศศินทร์\" แนะ3ประเด็น ฟื้นฟูกิจการ

            นโยบายการล็อกดาวน์ ยังมีผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ “จีดีพี” (GDP) ทั่วโลกในปี 63 ติดลบลงอย่างชัดเจนซึ่งสามารถเห็นจากตัวอย่างของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยมี GDP ลดลง 4.8% ต่อปีในไตรมาส 1/63 สร้างความกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก

            ปัญหาหนี้สินทวีความรุนแรง The Atlantis Report รายงานว่า หนี้ทั่วโลกจะสูงถึง 246  ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 320% ของ GDP ของโลก ในส่วนของประเทศไทยก็เลือกใช้นโยบายการ Lockdown เช่นกัน และนโยบายนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจด้านการบริการต่าง ๆ รวมถึงการค้าปลีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจสายการบินที่ต้องหยุดให้บริการลง ทำให้แทบจะทุกธุรกิจหยุดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมแทบทั้งหมดและได้รับผลกระทบเชิงลบโดยตรง ส่งผลทำให้หลายบริษัทต้องตกอยู่ในสภาวะขาดสภาพคล่อง หรืออาจถึงต้องล้มละลายเลยทีเดียว ประเทศไทยถูกจัดลำดับว่าเป็นประเทศที่เศรษฐกิจถดถอยมากเป็นอันดับต้นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

            ในวิกฤตโควิด-19 นี้ ศาลในประเทศสหรัฐอเมริกาคาดการณ์ว่า จะมีการยื่นขอล้มละลายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัทจำกัด บริษัท มหาชน (จำกัด) รวมถึงผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SME) หลายบริษัทที่ประสบปัญหาทางการเงิน เนื่องจากรายรับที่ตกอย่างหนัก เปรียบเทียบกับต้นทุนที่ยังสูงเท่าเดิม คงจะไม่เพียงพอที่จะมาชำระหนี้ได้ ทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดกิจการลง

บางรายที่ธุรกิจไม่สามารถฟื้นตัวและกลับมาดำเนินงานได้เช่นเดิมรวมถึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการของศาลล้มละลาย หรือ ที่เรียกกันว่า Chapter 7 Liquidation (ตามกฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกา) บริษัทลูกหนี้เหล่านี้จำเป็นต้องหยุดทำกิจการทั้งหมด ออกจากธุรกิจนี้ทันทีและศาลจะมีคำสั่งขายทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ ซึ่งมีงานวิจัยและบทความมากมาย เช่น Robert W. Kolb พูดถึงความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างการเพิ่มของคดีล้มละลาย Chapter 7 Liquidation

            และการเพิ่มของอัตราการว่างงานซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เกิดวิกฤต  แต่อีกด้านบางบริษัทโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่ถูกนักลงทุนหรือรัฐบาลในประเทศนั้น ๆ มองว่า บริษัทมีธุรกิจที่มีศักยภาพที่จะฟื้นตัวและสามารถกลับมาทำกำไรได้หลังวิกฤต หรือบริษัทที่ใหญ่เกินกว่าที่จะ ปล่อยให้ล้มละลาย (too big to fail) เพราะบริษัทเหล่านี้จะมาฉุดเศรษฐกิจของประเทศให้ยิ่งดำดิ่งลงสู่เหวลึก

ดังนั้นหลายบริษัทที่ดู แล้วว่าจะสามารถฟื้นกลับมาชำระหนี้ได้ในอนาคต บริษัทเหล่านี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหรือที่เรียกกันว่า Chapter  11 Reorganization (ตามกฎหมายล้มละลายของประเทศสหรัฐอเมริกา) เพื่อให้ลูกหนี้พักชำระหนี้ทั้งหมด และได้รับความช่วยเหลือทางการเงินอย่างทันท่วงทีจากผู้ถือหุ้นใหม่และ/หรือจากเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อให้มีโอกาสที่จะฟื้นฟูกิจการและกลับมามีรายได้และทำกำไรได้อีกครั้ง

โดยจะยังคงสามารถรักษาทรัพย์สินเดิมของบริษัทได้ โดยไม่ถูกขายทรัพย์สินของบริษัทเพื่อมาชำระหนี้ในระหว่างที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูนี้ และสาระสำคัญของ Chapter  11 คือ (1) แผนฟื้นฟูกิจการนี้ต้องเห็นชอบทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้โดยมีศาลช่วยเป็นคนกลางเพื่อให้กระบวนการฟื้นฟูมีความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย และ (2) ผู้จัดทำแผนฟื้นฟู (Planners) รวมไปถึงผู้บริหารแผน (Plan Administrator) ต้องเป็นมืออาชีพ เป็นที่ยอมรับของเจ้าหนี้และลูกหนี้ มีความจริงใจและตั้งใจที่จะช่วยให้บริษัทรอดพ้นจากการมีหนี้ และทำตามแผนจนสำเร็จและสามารถออกจากกระบวนการฟื้นฟูได้