วันนี้อุตสาหกรรมสื่อทีวีเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม แม้จำนวนช่องจะลดลงเหลือ 15 ช่อง แต่เม็ดเงินโฆษณาก็จะยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนอยู่บ้านมากขึ้น ผู้ชมทีวีจึงเพิ่มขึ้นกว่า 10% แต่เชื่อว่านับจากนี้แม้โควิดจะผ่านไปแต่เม็ดเงินโฆษณาก็ยังไม่กลับมา ทำให้ผู้ผลิตรายการต้องปรับตัวเอง จะผลิตและขายแข่งกับช่องทีวีคงเป็นไปไม่ได้
นางรติวัลคุ์ ธนาธรรมโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าแนวทางการดำเนินธุรกิจของเจเอสแอล นับจากนี้จะมุ่งไปที่การพัฒนาคอนเทนต์เป็นคอมเมิร์ซ หรือ C2C (Content to Comnerce) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทและลูกค้า ผ่านรายการหลักที่มีอยู่ ในทุกแพลตฟอร์ม เช่น เจาะใจ, Perspective เป็นต้น เพราะมีแบรนด์ที่แข็งแรง ขณะที่รายการกิ๊กดู๋ จะเป็นการผลิตเพื่อป้อนให้กับช่องทีวีนำไปขายโฆษณาเอง ส่วนยุทธการขยับเหงือก จะหันไปทำแพลตฟอร์มผ่านทางออนไลน์ จากเดิมที่ออกอากาศทางช่องวัน
“วันนี้เจเอสแอลต้องไปมองทะเลผืนใหม่ ต้องรู้อินไซด์ของผู้บริโภค และหาวิธีการปรับให้เข้ากับ New Normal หรือ Next Normal เราต้องรู้ว่าเรามีจุดแข็งอะไร และจะต่อยอดอย่างไร”
จากเดิมเจเอสแอล เคยมีรายได้จากโฆษณาทางทีวี 80-90% ในช่วงก่อนเกิดทีวีดิจิทัล แต่วันนี้มีรายได้จากโฆษณาทางทีวีเหลือเพียง 10% เพราะรายการที่ผลิตเองไม่ได้ขายโฆษณาแล้ว แต่เป็นการรับจ้างผลิตให้กับช่องมากกว่า อีกทั้งบริษัทยังสร้างโมเดลใหม่ เพื่อเพิ่มช่องทางในการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นการ
ครีเอทคอนเทนต์ การทำโปรเจ็กต์ให้กับลูกค้า การ Collaboration ฯลฯ
“เป้าหมายคือการเพิ่มงานในด้านแบรนด์ คอมมิวนิเคชั่นให้กับภาคเอกชนรายใหญ่ ภาครัฐ เป็นต้น ผ่านทุกๆ แพลตฟอร์มที่มีเพราะวันนี้จะทำออฟไลน์ หรือ ออนไลน์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ต้องเป็น O2O (Online to Offline) เพราะแต่ละแพลตฟอร์มมีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน ขณะที่เจเอสแอลมีความแข็งแรงในด้านการสร้างคอนเทนต์และครีเอทีฟ โมเดล competitive to win ไม่มีแล้ว ต้องเป็น Collaboration to win”
นางรติวัลคุ์ กล่าวว่า เพื่อให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน บริษัทมองหาธุรกิจใหม่ๆ ที่เป็น New Normal โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพ ที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจมากขึ้น ทำให้บริษัทตัดสินใจขยายธุรกิจด้วยการเปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่ ได้แก่ “อัลลี่” (Ali) ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น โฮมแคร์ เป็นต้น เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้บริโภค ที่ต้องการลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมี เป็นส่วนประกอบและในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังได้พัฒนาเจลแอลกอฮอล์ ออกวางจำหน่ายด้วย โดยบริษัทมีแผนที่จะนำแบรนด์อัลลี่ไปวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นภายใน 3 ปีนับจากนี้
ส่วนอีกแบรนด์ได้แก่ SUKINA แพลตฟอร์มให้ความรู้เรื่องสุขภาพ อาหาร ที่ทันสมัย ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งรูปแบบการให้ข้อมูล นอกจากผ่านเว็บไซต์แล้ว ยังมีการจัดสัมมนา โคชชิ่งรายบุคคล จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากพอสมควร แต่จากสถานการณ์โควิดทำให้ต้องปรับรูปแบบ หันไปจัดสัมมนาและโคชชิ่งผ่านทาง Zoom แทน อาทิ วิธีสร้างภูมิคุ้มกันกายและใจใน New Normal,รีเซตระบบย่อยเพื่อหุ่นสวยด้วยการกิน เป็นต้น และในอนาคตมีแผนพัฒนา SUKINA Food อาหารเพื่อสุขภาพออกวางจำหน่ายด้วย พร้อมเปิดตัวแบรนด์อย่างเป็นทางการหลังจากที่ซอฟ์ทล้อนซ์ เมื่อไตรมาส 3 ปีก่อน
สำหรับโครงสร้างรายได้ของบริษัทในปีนี้ แบ่งออกเป็น หน่วยงานราชการ/รัฐวิสาหกิจ 40% ภาคเอกชน 30% เอเจนซี่ โฆษณา 20% และการผลิตคอนเทนต์ 10%
หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,580 วันที่ 4 - 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563