บูมเลี้ยงโคนม เกษตรกรผวา สร้างหนี้เพิ่ม

04 ก.ค. 2563 | 09:45 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ค. 2564 | 04:39 น.

วงการตื่น กอ.รมน.ภาค2 บูมเลี้ยงโคนมภาคอีสาน พ่วงผุดโรงนม 20 จังหวัด แบ่งเค้กนมโรงเรียน 1.4 หมื่นล้าน ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมฯ ห่วงได้แม่วัวไม่มีคุณภาพราคาแพง สร้างหนี้สินเกษตรกรเพิ่ม ไม่คุ้มลงทุน

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค2  (กอ.รมน.ภาค2) มีโครงการส่งเสริมกิจการโคนมเพื่อสร้างมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชนของชาติ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้เฉลี่ย 2.4 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี ถือว่าต่ำสุด เมื่อเทียบกับภาคอื่น

 

ทั้งนี้โครงการส่งเสริมกิจการโคนมฯ ระบุมีวัตถุประสงค์หลายประการเช่น เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กลุ่มผู้ใช้น้ำในโครงการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของศูนย์บริหารจัดการน้ำภาคอีสาน, ส่งเสริมอาชีพให้กับกำลังพลทหารประจำการและปลดประจำการ , เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมเพื่อรองรับข้อตกลงการค้าเสรี(FTA) และเพื่อให้ชุมชนและเยาวชนของชาติได้ดื่มนมที่สด ใหม่ และมีคุณภาพ เป็นต้น

 

สำหรับการดำเนินโครงการจะใช้ระยะเวลา 10 ปี(2563-2572)ในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน โดยการดำเนินโครงการจะเป็นแบบ “แบบครบวงจร” ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ 1.ต้นน้ำคือกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ เป้าหมาย 400 ครอบครัว จะเป็นผู้เลี้ยงโคนมแล้วส่งน้ำนมดิบให้โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม 2.กลางน้ำ คือ ภาคเอกชนที่ร่วมลงทุน โดยการสร้างศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม โรงงานผลิตอาหารโคนม ศูนย์รับเลี้ยงโคสาว ศูนย์รับเลี้ยงโคปลดระวาง รวมทั้งโรงงานไบโอแก๊ส และ 3. ปลายน้ำ คือ ชุมชน และนักเรียนได้บริโภคนมใหม่ สด และมีคุณภาพ

 

อย่างไรก็ดีจากรายงานโครงการดังกล่าว กอ.รมน.ภาค2 จะร่วมกับภาครัฐและเอกชนที่มีความชำนาญในการดำเนินกิจการโคนม อาทิ สหกรณ์โคนมไทยมิลค์ จำกัด บริษัท เทียนขำแดรี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นต้น โดยขั้นการดำเนินงานจะรับสมัครเกษตรกรและจะคัดเลือกเกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมในขั้นสุดท้ายเข้าร่วมโครงการต่อไป

 

ในระหว่างนี้ภาคเอกชนที่ร่วมดำเนินงานจะสร้างศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม โรงงานอาหารข้นและอาหารหมัก ศูนย์เลี้ยงโคสาว ศูนย์เลี้ยงโคปลดระวาง และศูนย์ไบโอแก๊ส และผู้ประกอบการจะดำเนินการสร้างโรงเรือนที่พักโคนม โรงรีดและห้องเก็บอาหาร รวมทั้งเครื่องรีดนมและอุปกรณ์ เมื่อทุกอย่างเตรียมการเสร็จเรียบร้อยจะส่งมอบโคนมแม่รีดพร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ให้แก่เกษตรกร

สำหรับงบดำเนินงานโครงการนี้มีกรอบวงเงินรวม 1,319 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินทุนให้เกษตรกรกู้ยืมจำนวน 508 ล้านบาท (400 ครอบครัว ครอบครัวละ 1.27 ล้านบาท) โดยแต่ละครอบครับจะได้รับโคแม่รีด 10 ตัว โรงพักโคนม โรงรีดนม ห้องเก็บอาหาร และเครื่องรีดนมพร้อมอุปกรณ์ และเป็นเงินทุนสนับสนุนจากภาคเอกชนอีก 811 ล้านบาท ซึ่งภาพรวมโครงการดังกล่าวถือมีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ก็มีเสียงสะท้อนมุมมองที่มีความกังวลต่อโครงการนี้เช่นกัน

 

นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศ ไทย จำกัด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยกับส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร แต่หากพิจารณาต้นทุนของแม่โคนม 10 ตัว ใช้วงเงิน 1.27 ล้านบาท ถามว่าใครได้รับประโยชน์ และแม่พันธุ์โคนมที่จะนำไปให้เกษตรกรเลี้ยง คุณสมบัติ คุณภาพผ่านหรือไม่ มีนายทุนสต๊อกโคนมเพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรในราคาแพงหรือไม่ และจะคุ้มทุนในการเลี้ยงหรือไม่ เหล่านี้ควรมีคำตอบก่อนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ

 

บูมเลี้ยงโคนม  เกษตรกรผวา  สร้างหนี้เพิ่ม

                                     นัยฤทธิ์  จำเล

“วัวในโครงการนี้คิดแล้วตัวละ 7-8 หมื่นบาทสูงเกินไป เลี้ยง 5 ปีจะคืนทุนหรือไม่ หากล้มเหลวจะทำให้เกษตรกรมีหนี้เพิ่มขณะที่โครงการนี้ มองว่ายังมุ่งเข้าตลาดนมโรงเรียนเป็นหลัก ที่รัฐบาลจัดสรรงบปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเป็นนโยบายรัฐ ทุกคนมีสิทธิ์เข้าร่วมได้ เพียงแต่ต้องทำน้ำนมให้มีคุณภาพ แต่ถ้าเข้ามาในรูปแบบนี้ก็ต้องมาวางระบบกันใหม่เกรงจะทำให้น้ำนมดิบยิ่งล้นตลาด สุดท้ายก็มาเททิ้ง

 

แหล่งข่าววงการโคนม กล่าวว่า เกรงว่าเกษตรกรจะขาดทุนและเป็นหนี้เพิ่ม ปัจจุบันโรงงานแปรรูปนมที่ตั้งอยู่แล้วในพื้นที่ก็สามารถที่จะไปซื้อน้ำนมดิบที่ใดก็ได้เพื่อเข้าร่วมนมโรงเรียน

บูมเลี้ยงโคนม  เกษตรกรผวา  สร้างหนี้เพิ่ม

        ชนะศักดิ์ จุมพลอานันท์

 

สอดคล้องกับนายชนะศักดิ์ จุมพลอานันท์ นายกสมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบ กล่าวว่าประเมินดูแล้วโครงการไม่น่าประสบความสำเร็จ เพราะจำนวนแม่โคที่เลี้ยงน้อยเกินไป และสัตว์แพทย์ของกรมปศุสัตว์ที่มี 1-2 คนต่ออำเภอที่ช่วยดูแลเกษตรกร บางคนเป็นมือใหม่ น่าเป็นห่วง เกรงเป็นปัญหาใหญ่ 

 

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,588 วันที่ 2 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563