ประเด็นพูดคุยจาก งานเสวนา "สุมหัวแก้ปัญหา" เมื่อวันเสาร์ที่ 18 ก.ค. 2563 ณ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์รัชโยธิน ในหัวข้อ “เมื่อหนังไทยติดโควิด19” ตัวแทนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและนำเสนอแนวทางการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งและกลไกที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ (รวมเกมออนไลน์ ธุรกิจเพลง ภาพยนตร์ออนไลน์ และแอปพลิเคชัน) ของไทยในระยะยาว ต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งที่นำเสนอโดย คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
ความสำคัญของภาพยนตร์ไทยในเชิงเศรษฐกิจ
โรงฉายภาพยนตร์ในประเทศไทยเปลี่ยนจากโรงภาพยนตร์ Stand Alone เป็นระบบ mulitplex มาตั้งแต่ก่อนปี 2000 ตลอดเวลากว่า 20 ปี โรงภาพยนตร์เป็นศูนย์กลางทางสังคมได้ก่อร่างสร้างวัฒนธรรมการดูหนัง คนไทยได้มีโอกาสดูหนังต่างประเทศมากขึ้น ส่วนภาพยนตร์ไทยก็มีการพัฒนางานสร้างให้เป็นระบบสากล สามารถพูดได้ว่า ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย สร้างโดยคนไทย บริหารโดยคนไทย และเพื่อคนไทยจริง ๆ ธุรกิจอื่น ๆ อาจมีต่างชาติเข้ามาแชร์ผลประโยชน์ เวลาหนังที่ทำเงินสามสี่ร้อยล้าน สามารถจุนเจือสังคมได้มหาศาล (1) คนที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างผู้สร้าง ทีมงาน นักแสดง ฝ่ายการตลาดจัดจำหน่าย และธุรกิจอื่น ๆ ที่ต่อเนื่อง อาทิ ห้องแล็บดิจิทัล ห้องบันทึกเสียง บริษัทสร้างกราฟฟิก สร้างเทคนิคพิเศษต่าง ๆที่มีมูลค่าอีกหลายหมื่นล้าน เป็นต้น (2) คนที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น คนขับรถแท็กซี่ คนเปิดร้านอาหารทั้งในห้าง ข้างถนน ก็พลอยขายดี เมื่อคนออกมาดูหนังกันเยอะๆ โดยฉพาะหนังไทยที่เงินทุกบาททุกสตางค์ก็ไม่ได้ไปไหน ซึ่งจะหมุนเวียนจับจ่ายใช้สอยกันภายในประเทศ และยังสามารถดึงเงินเข้าประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมไม่น้อยไปกว่ากัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ ดัน ซอฟพาวเวอร์ แก้วิกฤติอุตฯหนังไทย
ภาครัฐ-เอกชนจับมือขับเคลื่อน “หนังไทยสร้างชาติ”
การต่อสู้ของหนังไทยใน 20 ปี
ย้อนกลับไปช่วงก่อนปี 2000 หนังไทยก็ต้องต่อสู้เยอะกับภาพยนตร์ต่างประเทศจนในสมัยนั้นหนังไทยเหลือผลิตเพียงปีละ 10 เรื่อง แต่ก็มีคุณภาพพอที่จะไปเผยแพร่ในต่างประเทศ สร้างขึ้นตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ เช่น ฟ้าทะลายโจร นางนาก บางระจัน เป็นต้น หลังจากนั้นรัฐบาลก็เริ่มเล็งเห็นศักยภาพจากภาพยนตร์จึงได้เกิดโครงการสร้างภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่างภาพยนตร์"สุริโยไท" ซึ่งเรียกได้ว่าสร้างประวัติกาลคนดูจำนวนมากแห่กันเข้าโรงหนังเพื่อดู สุริโยไท พร้อมกันทั่วประเทศ สามารถเก็บรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท ความสำเร็จดังกล่าวควบคู่ไปกับภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง คือ "องค์บาก" เป็นการขับเคลื่อนจากเอกชนที่ใช้ทุนสร้างกว่า 100 ล้านบาท และประสบความสำเร็จอย่างดีในการส่งออก ถูกผู้จัดจำหน่ายต่างชาติซื้อไปฉายและทำรายได้กลับเข้ามาในประเทศไทยอย่างมหาศาล หลังจากนั้น ก็มีภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูงออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ นเรศวร 6 ภาค องค์บาก 3 ภาค ต้มยำกุ้ง 2 ภาค เรียกว่าเป็นปี 2000-2010 ช่วงที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
อย่างไรก็ตาม หลังปี 2010 เป็นต้นมา วงการหนังกลับขาดความต่อเนื่องในการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาพยนตร์ไทยที่มีสเกลใหญ่ ๆ ลดจำนวนลง พร้อม ๆกันนั้น ภาพยนตร์ Holywood ในยุคหลัง ๆ กลับมีการพัฒนาเพื่อตลาดโลก ลงทุนสูงขึ้นด้วยภาพอลังการงานสร้างต่าง ๆ และบางเรื่องก็มีองค์ประกอบด้านการตลาดที่เน้นผู้ชมในเอเชีย มีการใช้นักแสดงจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงนักแสดงไทย อย่าง จา พนม ร่วมแสดงภาพยนตร์ blockbuster ซึ่งเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ที่ Hollywood ใช้ช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดจากภาพยนตร์ Local (ภาพยนตร์ท้องถิ่น) เมื่อทุนการผลิตของหนังไทยไม่สามารถสู้ทุนผลิตจากต่างประเทศได้ วิธีการทำภาพยนตร์ไทยจึงต้องมาเน้นขายเชิงความได้เปรียบทางวัฒนธรรม เช่น ภาพยนตร์ตลก ภาพยนตร์รัก ภาพยนตร์ภาษาท้องถิ่น เหล่านี้เป็นภาพยนตร์ที่สเกลเล็กลงแต่ก็ไม่สามารถส่งออกได้มากเท่าเดิม
ในช่วงระยะ 5 ปีย้อนหลังนับตั้งแต่ปี 2014 ภาพยนตร์ไทยมีสถิติที่น่ากังวลเพราะเหลือสัดส่วนการตลาดต่ำกว่า 30 % มาตลอด 5-6 ปี
ปี 2014 เป็นปีที่สัดส่วนหนังไทยกับหนังต่างประเทศ ดีที่สุดที่ประมาณ 29% เพราะเรามีภาพยนตร์เรื่อง พี่มากพระโขนง ที่กวาดรายได้ไปกว่า 1,000 ล้านบาท หลังจากนั้นก็ลดลงเหลือ 21% ในปี 2015 ลดลงหลือ 17% ในปี 2016 และเหลือ 12% ในปี 2017 และกลับดีขึ้นในปี 2018 และ 2019 โดยมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% และ 20% ตามสำดับ ทว่าหากพิจารณาถึงมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่มีความแข็งแรงพึ่งตัวเองได้ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย หรือ จีน สัดส่วนของภาพยนตร์ Local สัดส่วนควรอยู่ที่ 50% -60% พึ่งพาภาพยนตร์ที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลักมากกว่าการนำเข้า ไม่เป็นการเสียดุลและปล่อยให้เม็ดเงินไหลออกนอกประเทศ
การพาหนังไทยเข้าสู่ทศวรรษหน้า
วิกฤตโควิด-19 ทำไห้อะไรหลาย ๆ อย่างเปลี่ยนแปลง แต่ก็นำสนใจที่หลายองค์กรธุรกิจกลับมาสนใจในการลงทุนในการสร้างภาพยนตร์ ซึ่งทั้งหมดก็เชื่อว่าทุกคนมองว่าหนังไทยยังไปต่อได้อีกไกล ถ้ามีการผลักดัน ไลน์อัพหนังไทยปี 2021 ก็มีทั้งหนังที่สร้างโดยทีมสร้าง "นาคี” ที่เก็บรายได้ไปเกือบ 400 ล้าน มีหนังที่ช่อง7 ร่วมสร้าง และยังมีหนังที่ได้นักลงทุนต่างชาติ เช่น จีน มีโปรเจ็คท์กับคุณซันนี่ และมีทุนหนังอเมริกันที่มีมาริโอเล่นคู่กับใบเฟิร์น จึงเห็นได้ว่า แม้จะมีอุปสรรคแต่ภาคเอกชนก็ยังเห็นโอกาสมากมายในธุรกิจภาพยนตร์
สิ่งที่เราอยากตั้งเป้าหลังจากการพูดคุยวันนี้ก็คือ ความหวังให้เกิดการสนับสนุนบุคลากรที่มีความสามารถในวงการภาพยนตร์ไทยเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้มีโครงการที่เกิดขึ้นจากเงินสนับสนุนจากภาครัฐโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภาพยนตร์ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน อย่างน้อยก็มีทุนพอสร้างงานคุณภาพทัดเที่ยมกับภาพยนตร์ต่างประเทศ สร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นว่าหนังไทยมีความยอดเยี่ยมไม่แพ้หนัง Hollywood ซึ่งเป็นยุคที่ผู้คนพูดถึงคำว่า Soft Power และภาพยนตร์คือหนึ่งในเครื่องมือของการเผยแพร่ความคิดและอิทธิพลของสินค้าไทย นำไปสู่ความงอกเงยทั้งเชิงพาณิชย์และวัฒนธรรมนำเงินตราและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ภาครัฐจึงควรมีทั้งโครงการสร้างภาพยนตร์ที่เป็นระดับชาติเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทุกองค์กร และมีโครงการเพื่อบุคลากรที่เสริมสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อสืบทอดภารกิจนี้ต่อไปถึงอนาคต มีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง และในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เราตั้งใจและให้ความร่วมมือเต็มที่เพื่อให้ภาพยนตร์ไทยกลับสู่ยุคทองให้ได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมเวทีนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเสวนาครั้งนี้ ได้แก่ คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ผู้บริหารจากเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ คุณยงยุทธ ทองกองทุน ผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง และผู้เขียนบทภาพยนตร์ชื่อดัง คุณเกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร ผู้บริหารจากค่ายไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น คุณพิทยา สิทธิอำนวย และคุณสง่า ฉัตรชัยรุ่งเรือง ผู้บริหารจากค่ายภาพยนตร์ ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม ส่วนตัวแทนภาครัฐ ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มดาวฤกษ์ คุณวทันยา วงษ์โอภาสี คุณธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ คุณสันติ กีระนันท์ และคุณภาดาท์ วรกานนท์