นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และห้างค้าปลีกรายใหญ่ เพื่อพิจารณามาตรการดูแลราคาเนื้อสุกร โดยได้มีข้อตกลงกับสมาคมฯ จะจำหน่ายสุกรมีชีวิตในราคากิโลกรัม (กก.) ละ 80 บาท เพื่อให้ราคาหน้าเขียง หมูเนื้อแดง กก.ละ 150 บาท และเนื้อสัน กก.ละ 160 บาท แต่หากพบว่าราคาเกินไปจากที่ได้ตกลงกันไว้ จะใช้มาตรการเข้มงวดขึ้น โดยจะเสนอคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ควบคุมราคาสูงสุดต่อไป
“ถ้าการคุมราคาจำหน่ายสูงสุด ทั้งราคาหมูเป็น กก.ละ 80 บาท หมูเนื้อแดงกก.ละ 150 บาท และเนื้อสันกก.ละ 160 บาท ไม่ได้ผล ก็จะมาดูเรื่องการส่งออก ระยะแรกจะจำกัดการส่งออกไม่ให้เกินวันละ 5,000 ตัว จากตอนนี้ส่งออกวันละ 10,000 ตัว แล้วจะมาดูร่วมกันว่าจะให้ใครเป็นผู้ส่งออกได้บ้าง และถ้าปัญหายังไม่คลี่คลาย ก็จะใช้มาตรการรุนแรงสุด คือ การระงับการส่งออกชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น”นายวิชัยกล่าว
ในด้านการดูแลผู้บริโภค กรมฯ ได้ร่วมมือกับผู้ผลิตนำสุกรชำแหละกระจายผ่านห้างค้าปลีกสมัยใหม่และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยจะจำหน่ายหมูเนื้อแดง กก.ละ 130 บาท เริ่มที่ห้างแม็คโคร วันที่ 22 ก.ค.2563 ทั่วประเทศ เพื่อช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อหมูราคาถูก ส่วนที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด กำลังอยู่ระหว่างการประสานงานและจะมีจำหน่ายในระยะต่อไป
ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบการจำหน่ายเนื้อหมูตามตลาดต่างๆ โดยปัจจุบัน พบว่า ราคาจำหน่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 150-160 บาท ยกเว้นบางตลาดที่มีการจำหน่ายในราคาสูงกว่านี้ เช่น ตลาดพรานนก กก.ละ 170 บาท ตลาดรามอินทรา กม.2 กก.ละ 170 บาท และตลาดดาวคะนอง กก.ละ 170-175 บาท ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายแล้ว
“มาตรการต่าง ๆทางสมาคมฯเป็นผู้เสนอเองและพร้อมให้กรมดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆหากราคาหมูไม่ปรับลง ซึ่งต้นทุนการเลี้ยงหมูไม่เกิน 70 บาท/กก.ดังนั้นการจำหน่ายหมูหน้าฟาร์มกก.ละ 80 บาท ก็ถือว่าได้กำไร” นายวิชัย กล่าวว่า
สำหรับสาเหตุที่ทำให้มีความต้องการหมูเพิ่มขึ้น มาจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริการะบาด ทำให้ผลผลิตหมูในจีน เวียดนาม กัมพูชา และสปป.ลาว เสียหาย จึงมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น และมีการสั่งซื้อจากไทยเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดส่งออกเพิ่มจากวันละ 5,000-6,000 ตัวเป็น 10,000 ตัว และยังมีความต้องการบริโภคจากการคลายล็อกดาวน์ และเปิดเทอม