ความสำเร็จจากการจัดโครงการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศผ่าน “ช้อปช่วยชาติ” ที่ต่อเนื่องมา 4 ปี ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น “ชิม ช้อป ใช้” “ชิม ช้อป ใช้” ในปีที่ผ่านมาที่มีเงินหมุนเวียนเกือบ 1 แสนล้านบาท ทำให้ “ผู้ประกอบการค้าปลีก” คาดหวังที่จะให้รัฐบาลไฟเขียวให้จัดโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” อีกครั้งหลังพิษโควิด-19 ทำให้เกิดภาวะสูญญากาศ ทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรมหยุดชะงักงัน ส่งผลกระทบหนักต่อผู้ประกอบการ รวมถึงผู้บริโภคที่ขาดความมั่นใจและเลือกที่จะกำเงินสดไว้ในมือ
นายพัฒนา สุธีระกุลชัย ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สมาคมมุ่งหวังให้รัฐบาลจัดทำโครงการชิม ช้อป ใช้ ขึ้นอีกครั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนอน-ฟู้ด (กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร) เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า แฟชั่น ฯลฯ เพราะที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในกลุ่มต่างๆเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้โรงงานหลายแห่งไม่สามารถผลิตเพื่อการส่งออก ต้องลดกำลังการผลิตลงเหลือจำหน่ายเฉพาะในประเทศ ซึ่งก็ขายไม่ดี เพราะห้าง ร้านค้าหลายแห่งต้องปิดบริการชั่วคราว จึงต้องลดต้นทุน ปลดคนงาน
ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา จึงควรกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคในประเทศให้เกิดการจับจ่าย เพื่อจะได้เกิดการหมุนเวียนของเงินไปยังภาคต่างๆ อย่างไรก็ดี สมาคมพร้อมผนึกกำลังสภาหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมฯ ในการผลักดันให้เกิดโครงการอย่างเป็นรูปธรรม และนำเสนอต่อหน่วยงานที่กำกับดูแล
หลังจากที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทย นำโดยผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ได้พบปะแลกเปลี่ยนกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมแลกเลี่ยนแผนการฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งหนึ่งในแผนงานสำคัญคือ การเสนอให้จัดแคมเปญเพื่อการจับจ่ายและการบริโภคในประเทศ ผ่าน 2 โครงการคือ ช้อป ช่วย ชาติ ชิม ช้อป ใช้ และไทยเที่ยวไทย ไทยช้อปไทย นั้น พบว่า โครงการด้านการท่องเที่ยวเริ่มเดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ช้อป ช่วย ชาติ หรือ ชิม ช้อป ใช้ กลับยังไม่ได้รับการสานต่อ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยและผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ จึงเดินหน้าผลักดันเพื่อเป็นการปลุกกำลังซื้อในประเทศให้กลับมา
จัดเลย ส.ค. วันแม่
นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้าในกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า โครงการชิม ช้อป ใช้ จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง ส่งผลดีต่อกำลังซื้อภายในประเทศ
และเป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับ โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” มาตรการที่ช่วยกระตุ้นให้คนไทยได้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับแอพ “เป๋าตัง”
“อยากนำเสนอให้ภาครัฐเชื่อมโยงแคมเปญกระตุ้นการจับจ่ายร่วมกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าประชารัฐที่ร่วมรายการ ให้อยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกันกับการท่องเที่ยว อาจเป็นช่วงเดือนส.ค. วันแม่แห่งชาติ หรือเดือนต.ค ที่มีวันหยุดหลายวัน และช่วงไฮซีซั่น เดือนพ.ย.- ธ.ค. ซึ่งเอื้อต่อการตัดสินใจซื้อและท่องเที่ยวในประเทศ ทั้งนี้จากการเข้าร่วมโครงการในครั้งก่อน บริษัทได้รับผลตอบรับที่ดีมีการจับจ่ายใช้สอย มีลูกค้าหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นประมาณ 10%”
ดึงนักช็อปไทย
นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า วันนี้คนไทยต้องช่วยคนไทย คนไทยต้องเที่ยวไทย โควิด-19 ทำให้เกิดสูญญากาศ ธุรกิจได้รับบาดเจ็บ เดือดร้อนทั่วโลก จึงควรนำโครงการช้อปช่วยชาติ กลับมาทำอีกครั้ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในประเทศ
“ซัพพอร์ตติ้ง อีโคโนมี ต้องเกิดขึ้นเพื่อให้คนไทยช่วยกันเอง ผู้ค้าขายช่วยกันเอง เกิดการคอลลาบอเรชั่นมากขึ้น รัฐบาลต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ การจับจ่ายในประเทศให้กลับมา เหมือนเช่นที่จีนทำ ไม่เช่นนั้นทุกอย่างจะชะงักหมด ทำอย่างไรให้คนไทยที่นิยมไปเที่ยวต่างประเทศ ใช้จ่ายเงินเป็นแสนล้าน ดึงคนเหล่านี้ให้กลับมาใช้จ่ายในเมืองไทย”
เพิ่มเวลา-สิทธิประโยชน์
ด้านนางสาวจิตตินันท์ หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ ส่วนงานพัฒนาธรุกิจและการตลาด ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลจัดให้มีโครงการชิม ช้อป ใช้เกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะจะช่วยสร้างบรรยากาศให้คนกลับมาใช้จ่ายซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ซบเซามาตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อร้านค้าอย่างมาก
“เชื่อว่าโครงการชิม ช้อป ใช้ จะช่วยผลักดันให้คนเชื่อมั่น และกล้าจับจ่ายใช้เงินมากขึ้น หากได้ในสิ่งที่คุ้มค่า ขณะเดียวกันก็ช่วยร้านค้าให้มียอดขายที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ลักชัวรี แฟชั่น ซึ่งได้รับผลกระทบยอดขายลดลงในช่วงที่เกิดโควิด ซึ่งชิม ช้อป ใช้ครั้งนี้ ควรจะเพิ่มวงเงินการซื้อสินค้า หรือลดหย่อนภาษี หรือซัพพอร์ตเรื่องของเงินให้มากขึ้น รวมทั้งขยายระยะเวลาการใช้ออกไปจนถึงสิ้นปี เชื่อว่าจะกระตุ้นผู้บริโภคระดับกลางให้ออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าได้มากขึ้น
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563