"การบินไทย" จ่อรื้อใหญ่ สายพาณิชย์

23 ก.ค. 2563 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2563 | 09:52 น.

“การบินไทย” จ่อรื้อใหญ่ สายการพาณิชย์ ด้าน “พีระพันธ์” ยํ้าหลังเข้าสู่การบริหารแผนฟื้นฟู จะเดินหน้าผ่าตัดองค์กร ปรับโครงสร้างผู้บริหารอีกรอบ ล่าสุดมั่นใจทำเค้าโครงการแผนเสร็จทันเสนอศาลนัดไต่สวน 17 ส.ค.นี้

ล่าสุดหลังจากการบินไทยได้การแต่งตั้งโยกย้าย 2 ผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (EVP) คือ “ณัฐพงศ์ สมิตอำไพพิศาล” อดีตซีเอฟโอ รวมถึง “สุวิมล บัวเลิศ” ที่คุมงานด้านบุคคลากรและบริหารทั่วไป เข้าสังกัดกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ “ชาญศิลป์” ดึงงานงานด้านทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไปมาคุมเองโดยตรง สเต็ปต่อไปคือการรื้อใหญ่โครงสร้างของสายการพาณิชย์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการสร้างรายได้ของการบินไทย

 

ในปี 2562 การบินไทยมีรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารที่เกิดขึ้นในต่างประเทศทั่วโลกประมาณ 1.35 แสนล้านบาท และรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารที่เกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ที่ต้องปรับวิธีการทำงานใหม่ เพื่อเดินไปสู่โหมดการฟื้นฟูการบินไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“การบินไทย” ย้าย 2 บิ๊ก EVP “ชาญศิลป์” คุมบุคคลแทน “สุวิมล”

บอร์ดTHAI ตั้ง 'ชาย เอี่ยมศิริ' เป็น CFO  มีผลวันนี้  

ภารกิจใหญ่ ‘การบินไทย’ ไล่เจรจาเจ้าหนี้

"การบินไทย" แจงเหตุทำไมลูกค้าขอคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินไม่ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้

ที่ผ่านมารักษาการดีดีการบินไทย ก็ได้มีการพบปะกับเอเย่นต์จำหน่ายตั๋วเครื่องบินที่คร่ำหวาดในธุรกิจนี้มานาน เพื่อหาข้อมูลเรื่องการทำงานของสายการพาณิชย์ของการบินไทยไว้แล้วในระดับหนึ่งเพื่อหาข้อมูล

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากเอเย่นต์ผู้จำหน่ายตั๋วเครื่องบินในประเทศไทย เผยว่า ทางเอเย่นต์ก็ยังคงจับตาดูว่าหลังวันที่ 17 สิงหาคมนี้ไปแล้ว การบินไทยจะมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร ว่าจะสามารถคืนเงินค่าตั๋วให้ได้เมื่อไหร่ หรือจะทำการบินได้จริงเมื่อไหร่ รวมถึงการจับตาดูเรื่องด้วยว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการทำงานในสายการพาณิชย์ของการบินไทยอย่างไร

 

หากฝ่ายการพาณิชย์ยังทำงานในแบบราชการเหมือนเดิม ก็คงไม่สามารถฟื้นฟูได้สำเร็จ โดยปัญหาในด้านการขายของการบินไทย คือ การใช้บุคคลากรเพียงไม่กี่คนแต่คุมการทำงานในหลายตำแหน่ง เช่น ฝ่ายควบคุมราคา และฝ่ายคุมเรื่องที่นั่ง ก็เป็นคนเดียวกัน ซึ่งคนที่มีอำนาจในการควบคุมราคา ไม่ใช่คนขาย แต่คนรับผิดชอบงานขาย คือ ผู้จัดการฝ่ายของการบินไทยในสำนักงานต่างประเทศ ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องของการกำหนดราคาได้ ต้องส่งให้ส่วนกลางพิจารณา

 

ดังนั้นตราบใดที่ฝ่ายการพาณิชย์ยังไม่ปรับวิธีการทำงานให้รวดเร็ว คล่องตัว เน้นการใช้ระบบRevenue Management มาเพิ่มประสิทธิภาพในกำหนดราคาขาย การขยายสัดส่วนการขายตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ต รวมถึงหาวิธีการควบคุมการรั่วไหลเรื่องของการจ้างหรือจ่ายผลประโยชน์ตอบแทน ในกรณีที่การบินไทยสำนักงานต่างประเทศไปจ้างตัวแทนขายตั๋ว(จีเอสเอ)หรือไปให้โฮลเซลล์ในต่างประเทศช่วยขาย แลกกับการจ่ายอินเซ็นทีฟในกรณีที่ขายถึงเป้า การฟื้นฟูก็คงเดินไม่ได้ ส่วนเอเย่นต์ในประเทศกว่า 700 รายที่ขายตั๋วให้การบินไทย ก็จะมีเพียงรายได้จากการคิดค่าบริการบวกเพิ่มจากราคาบัตรโดยสารที่เรียกเก็บจากลูกค้าเท่านั้น

 

\"การบินไทย\"  จ่อรื้อใหญ่  สายพาณิชย์

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการบริหารจัดการองค์กรของการบินไทย หลังจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ก็คงต้องมีการปรับโครงการสร้าง ปรับตำแหน่งกันอีกรอบ 

 

โดยเฉพาะส่วนที่มีมากจนล้นเกินไป ก็ต้องปรับให้เหมาะสม ตามแผนฟื้นฟูที่อยู่ระหว่างการจัดทำเค้าโครงอยู่ในขณะนี้ โดยหลังจากทางบริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านการวางแผนธุรกิจในอนาคต (Airline Business) ภายใต้แผนฟื้นฟู ก็ทำให้วันนี้ มั่นใจว่าการจัดทำเค้าโครงแผนฟื้นฟูการบินไทย จะแล้วเสร็จทันวันที่ศาลนัดไต่สวนวันที่ 17 สิงหาคมนี้

 

ส่วนการเจรจากับเจ้าหนี้ทาง “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” รักษาการดีดีการบินไทยดำเนินการเจรจาอยู่ โดยน่าจะมีเจ้าหนี้เกินครึ่ง สนับสนุนให้การบินไทยเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู ส่วนการบินไทยจะกลับมาบินอีกครั้ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผน ที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเดินทางของโลกหลังโควิด-19 เพราะการจะกลับมาบินในทุกเส้นทางระหว่างประเทศเหมือนในอดีต

 

ถ้าไปบินโดยไม่มีผู้โดยสาร ก็ขาดทุน จึงต้องวางทิศทางว่าแผนบินที่จะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีของการบินไทย จุดไหนจะมีความเป็นไปได้และเหมาะสม โดยส่วนตัวผมมองว่าระยะแรกต้องบินในประเทศ กำหนดจุดให้ชัดเจน ถ้าเราจะบินในประเทศ ก็ต้องวางแผนว่ากับไทยสมายล์จะเดินอย่างไร เพราะไทยสมายล์เอง ก็ขาดทุนอยู่ร่วม 7 พันล้านบาท นายพีระพันธุ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งล่าสุดการบินไทยได้เปิดทำการบิน เที่ยวบินพิเศษในเส้นทางกรุงเทพ-ดอนลอน (ONE WAY) ที่การบินไทยจะเปิดบินในวันที่ 9,16,23 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นการขายตั๋วแบบ One Way ขาออกจากกรุงเทพฯ ไปลอนดอน เพราะเที่ยวบินขาเข้าการบินไทยขายตั๋วเข้ามาครบเต็มจำนวนที่นั่งแล้ว ซึ่งเป็นเส้นทางบินที่เปิดให้เอเยนต์ในประเทศช่วยขายราคาเริ่มต้น 2.2 หมื่นบาท ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหารายได้ของการบินไทยในช่วงนี้

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,594 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563