เดินหน้า เมกะโปรเจ็กต์ขนส่ง เฟส 2 ฟื้นเศรษฐกิจ จัดเวทีประชาพิจารณ์ฟังเสียงสะท้อนไฮสปีดไทย-จีนช่วงโคราชถึงหนองคาย ทดสอบความสนใจนักลงทุนต่อไฮสปีดอีอีซี จากอู่ตะเภาไประยองถึงตราด ควบรฟท.ต่อทางคู่สายใหม่จรดชายแดนด่านคลองใหญ่ แม่สอดลุ้นมอเตอร์เวย์ใหม่เจาะอุโมงค์ 3 แห่งเชื่อมตาก
หน่วยงานรัฐเจ้าของโครง การ เดินหน้าแผนเมกะโปรเจ็กต์ขนส่ง เฟส 2 คึกคัก เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายที่ลงทุนไว้ให้สมบูรณ์ รฟท.เปิดเวทีประชาพิจารณ์ 4จังหวัดแนวไฮสปีดไทยจีน ช่วงโคราช-หนองคาย อีกเวทีจัดมาร์เก็ต ซาวน์ดิ้ง ดูความสนใจของนักลงทุนแผนต่อไฮสปีดอีอีซี จากอู่ตะเภาไประยองและต่อถึงตราด ควบทางคู่สายใหม่มาบตาพุดสุดชายแดนด่านคลองใหญ่ กรมทางหลวงชวนชาวแม่สอดล้อมวงถกมอเตอร์เวย์สายใหม่เชื่อมตาก ที่ต้องเจาะอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทาง 29 กม. เพื่อสรุปเสนอขออนุมัติก่อสร้าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 16 ก.ค. 2563 ที่ศาลาการเปรียญวัดเวฬุวัน ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก กรมทางหลวง ได้จัดประชุมหารือมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม กลุ่มย่อยครั้งที่ 21 ในโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายตาก-แม่สอด โดยนายอำเภอแม่สอดเป็นประธาน มีสมาชิกและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 200 คน
นายประสงค์ มงคลเนาวรัตน์ รองผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องมีทั้งการขุดเจาะอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางประมาณ 29 กม. และสะพาน โดยจะมีด่านเก็บเงิน 2 แห่ง ที่ด่านแม่สอด กับด่านลานสาง มีจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางคมนาคมสายหลักโดยทำเป็นทางแยกต่างระดับ คาดใช้งบก่อสร้าง 103,000 ล้านบาท
โครงการนี้จะส่งผลดีต่อการค้า การลงทุน บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) เป็นถนนสายสำคัญที่เป็นยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ หากได้รับอนุมัติก่อสร้าง คาดจะเสร็จภายใน 10 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
โครงข่ายแม่สอดฉลุย ถนนผังเมืองรวม 450 ล้านเสร็จปีนี้
เช่นเดียวกับที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จัดประชุมฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 ในงานออกแบบรายละเอียดงานโยธา โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลประเทศสาธารณประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยอุดรธานีเป็น 1 ใน 4 จังหวัด (รวมนครราชสีมา ขอนแก่น และหนอง คาย) ที่เส้นทางรถไฟนี้ผ่าน
นายสุวัฒน์ กันภูมิ ผู้แทนรฟท. กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและจีน เพื่อร่วมพัฒนารถไฟความเร็วสูง ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เพื่อส่งเสริมการเดินทางขนส่งระหว่างประเทศจีน-ไทย โดยมีเส้นทางจากประเทศจีนผ่าน สปป.ลาว มายังไทย เป็นไปตามยุทธศาสตร์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการพัฒนาด้านคมนาคม และลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ของประเทศ
ซึ่งรถไฟความเร็วสูงทันสมัย ปลอดภัย รวดเร็ว ตรงเวลา เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย ด้วยศักยภาพของรถไฟความเร็วสูงจะเพิ่มประสิทธิภาพในหลายๆ ด้าน เช่นส่งสริมการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ลดระยะเวลาในการเดินทาง เพราะรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจะวิ่งด้วยความเร็ว 250 ก.ม./ชั่วโมง ใช้พลังงานสะอาดคือ พลังงานไฟฟ้า ทำให้ไม่เกิดมลภาวะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลจากการประชุมจะนำไปใช้ปรับการออกแบบเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และโครงการเกิดประโยชน์มากที่สุด ส่วนประเด็นที่ยังเป็นปัญหาหรือมีข้อโต้แย้งจะประมวลไว้ในรายงาน โดยจะนำร่างที่ปรับปรุงแล้วมาประชุมอีกครั้งในราวเดือนพ.ย.นี้ หากเป็นไปตามแผนจะสามารถดำเนินการหาผู้รับจ้างมาก่อสร้าง จะแล้วเสร็จในปี 2571 เพื่อเปิดเดินรถต่อไป
ผู้เข้าประชุมสะท้อนความกังวลว่าสถานีร่วมรถไฟไฮสปีด-รถไฟรางคู่จังหวัดอุดรฯ ที่อยู่คนละชั้น ตั้งประชิดศาลเจ้าปู่ย่ามากเกินไป ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของคนจำนวนมาก เสนอให้ใช้พื้นที่สาธารณะหนองแด ริมถนนมิตรภาพ ระยะทาง 4 กิโลเมตรจากตัวเมือง มีเนื้อที่หลายร้อยไร่แทน และยังเป็นการกระจายความเจริญสู่ทิศเหนือตามแผนพัฒนา ขอให้ป้องกันมลภาวะทางเสียง และแนวเส้นทางระดับพื้นดินกระทบวิถีชีวิตชุมชนและเกษตรกร กีดขวางทางสัญจร การประกอบอาชีพ ทางไหลของน้ำ เสนอให้เป็นรางยกระดับแทน
อีกเวทีวันที่ 24 ก.ค.นี้ รฟท.จัดประชุมประเมินความสนใจเบื้องต้นของภาคเอกชน (Market Sounding) พร้อมเปิดรับความคิดเห็นข้อเสนอแนะอย่างรอบด้าน จากภาครัฐ เอกชนและประชาชนที่เกี่ยวข้อง ต่อร่างผลการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมการเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนงานออกแบบเบื้องต้น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือไฮสปีดอีอีซี ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด ซึ่งกลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศ ตอบรับกว่า 150 ราย
ส่วนต่อขยายไฮสปีดอีอีซีนี้ ระยะทาง 200 กิโลเมตร ต่อจากสถานีอู่ตะเภา ไปยังระยอง ผ่านเขตอำเภอเมืองจันทบุรี และสิ้นสุดที่ตัวเมืองตราด มูลค่าโครงการจากการศึกษา 44,900 ล้านบาท ไม่รวมค่าเวนคืน รวมระยะทางตั้งแต่สถานีดอนเมืองถึงสถานีปลายทางจังหวัดตราด ราว 400 กิโลเมตร ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางเพียง 155 นาที หรือ 2 ชั่วโมงเศษ
พร้อมกันนี้รฟท.มีแผนลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออก คู่ขนานไปกับไฮสปีดอีอีซี เฟส 2 โดยมีสายทางต่อจากสถานีมาบตาพุด ไปถึงด่านพรมแดนคลองใหญ่ จังหวัดตราด เป็นเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ กำหนดแนวเวนคืนเป็นเขตทางกว้าง 50 เมตร ระยะทาง 260 กิโลเมตร งบลงทุนกว่า 9 หมื่นล้านบาท ล่าสุดได้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นแล้ว
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,595 วันที่ 26 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563