จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจากผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ ไม่สามารถขายผลผลิตได้ตามปกติกระทบต่อรายได้ของพี่น้องชาวประมง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีนโยบายมอบหมายให้กรมประมงหามาตรการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีการเลี้ยงหอยทะเลและสัตว์น้ำในกระชังทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประม เผย ว่า ทางกรมประมงได้เสนอร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ....... ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่ออาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่งแห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขณะนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฯ เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 และจะดำเนินการส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาเร่งด่วนต่อไป
สำหรับสาระสำคัญในร่างกฎกระทรวงฯ กำหนดให้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกชนิด ทั้งการเพาะเลี้ยงหอยทะเล การเลี้ยงปลาในกระชัง และสัตว์น้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ เป็นเงินจำนวน 59.5 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีอยู่จำนวน 21,041 ราย ในพื้นที่ 77 จังหวัด รวมพื้นที่กว่า 113 ล้านตารางเมตร เริ่มตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ จนถึง 31 ธันวาคม 2565 จะได้รับการยกเว้น 1 รอบใบอนุญาตการเพาะเลี้ยง (จำนวน 2 ปี : ปี 2563 – 2565) โดยจังหวัดที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมไปแล้วจะทำการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเพาะเลี้ยงในรอบปีถัดไป
ส่วนโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำโครงการเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับพี่น้องชาวประมงให้สามารถกู้เงินทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปีและผู้ประกอบการประมงจะต้องจ่ายสมทบอีกร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 7 ปีนับตั้งแต่วันที่กู้ ซึ่งจากการเปิดรับสมัครให้ชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์เข้าร่วมโครงการฯ
สำหรับผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ สามารถกรอกคำขอสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และยื่นความประสงค์ได้ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 25 พฤษภาคม 2564 ได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล และสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามพื้นที่ที่เรือประมงลำที่ยื่นกู้ทำการประมงอยู่ พร้อมแนบหนังสือรับรองการเข้าร่วมโครงการฯ จากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย หรือ สมาคมประมงในพื้นที่ หรือ สมาคมประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ในกรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมฯ สามารถติดต่อขอหนังสือรับรองได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดที่ยื่นคำขอ
กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า 2 มาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนสืบต่อไป
นอกจากนี้ การจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน ครม. มีมติเห็นชอบแผนการจัดการกองเรือประมงพื้นบ้าน ตามที่กองทัพเรือเสนอ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเรือมีทะเบียน เมื่อเจ้าท่าตรวจวัดและทำอัตลักษณ์แล้ว ดำเนินการแก้ไขในทะเบียน ซึ่งพบว่ามาแจ้งกับเจ้าท่า จำนวนประมาณ 16,000 ลำ และ 2. กลุ่มเรือที่ยังไม่มีทะเบียน จะต้องได้รับหนังสือรับรองจากกรมประมง เพื่อประกอบการจดทะเบียนกับกรมเจ้าท่า จำนวนประมาณ 35,000 ลำ
สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมากรมประมงได้เปิดให้ชาวประมงขอหนังสือรับรองไปแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 - มกราคม 2563 หลังจากปิดครั้งที่ 2 พบว่า ยังมีชาวประมงที่ไปแจ้งกับกรมเจ้าท่าแล้ว แต่ไม่ได้ขอหนังสือรับรองกับกรมประมงจำนวนประมาณ 1,400 กว่าลำ กรมประมงจึงได้เปิดให้เรือกลุ่มนี้มาขอหนังสือรับรองได้ตั้งแต่ 22 กรกฏาคม 2563 จนถึง 31 สิงหาคม 2563 ณ สำนักงานประมงอำเภอ และประมงจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด และสำนักงานประมงกรุงเทพ กรมประมง