เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ เรื่อง มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 วงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ซึ่งจากข้อกำหนดตารมความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้มีมติเห็นชอบให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการเสนอโครงการ “อาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ดื่มนมในวันหยุด” เพื่อให้เด็กนักเรียนได้บริโภคนมที่มีคุณภาพตามเกณฑ์นมโรงเรียนทุกวัน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสด้วย
แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โดยปกติช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปีจะเป็นช่วงที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมผลิตน้ำนมดิบได้ปริมาณสูง และจะลดลงจนมีปริมาณต่ำในเดือนกันยายน แต่ในช่วงต้นปี 2563 เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โรงเรียนปิดภาคเรียนเร็วขึ้น ประชาชนทั่วไปต้องกักตัวอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ตลาดนมพาณิชย์ในประเทศเกิดปัญหาไม่มีที่จำหน่าย ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมดิบที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบทั่วประเทศที่ได้ทำเอ็มโอยูไว้กับเกษตรกรในเดือนมกราคมมีปริมาณน้ำนมดิบเกินเอ็มโอยู 201.28 ตันต่อวัน เดือนกุมภาพันธ์เกินเอ็มโอยู 210.25 ตันต่อวัน และเดือนมีนาคมเกินเอ็มโอยู 131.790 ตันต่อวัน คิดเป็นปริมาณน้ำนมดิบที่เกินเอ็มโอยูเฉลี่ย 181.110 ตันต่อวัน คิดเป็นมูลค่า 3.4 ล้านบาทต่อวัน หรือ กว่า 1,255 ล้านบาทต่อปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดังนั้นโครงการนี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งผู้ประกอบการให้สามารถจำหน่ายผลผลิตน้ำนมดิบในโครงการฯ โดยจะใช้งบประมาณกว่า 4,072 ล้านบาท เพื่อให้เด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 7.03 ล้านคน (กราฟิกประกอบ) ทั้งนี้ผลผลิตนม ยู เอชที จากน้ำนมดิบที่ผู้ประกอบการได้ผลิตไว้แล้วในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิดมีจำนวนกว่า 520 ล้านกล่อง ราคากล่องละ 7.82 บาท
อย่างไรก็ตาม ความคุ้มค่าของโครงการนี้สามารถลดรายจ่ายของผู้ปกครองทั่วประเทศได้ 578.68 บาทต่อนักเรียน 1 คน ต่อปีการศึกษา และนักเรียนได้บริโภคนมที่มีคุณภาพตามเกณฑ์นมโรงเรียนทุกวัน ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายและภูมิคุ้มกัน ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี เพื่อรักษาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 2 ปี
ทั้งนี้หน่วยงานในงบประมาณ 4,072 ล้านบาทดังกล่าว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับสูงสุดกว่า 3,025 ล้านบาท เนื่องจากมีเด็กนักเรียนมากที่สุด รองลงมากระทรวงศึกษาธิการ กว่า 899 ล้านบาท กรุงเทพมหานครกว่า 140 ล้านบาท และเทศบาลเมืองพัทยา กว่า 6.7 ล้านบาท
ด้านนายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด เผยว่า กำลังรอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าว เมื่ออนุมัติแล้วเงินจะสามารถใช้ได้ในระบบ โครงการนี้มีระยะเวลา 74 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-30 เมษายน 2564
ดังนั้นอยากให้เร่งอนุมัติโดยเร็วเนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 1.5 หมื่นราย เกรงว่าจะได้รับผลกระทบ หากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน 72 ราย สะดุด เกษตรกรอาจจะถูกลอยแพ หรืออาจจะไม่ได้รับเงินค่าน้ำนมตรงเวลาจะเดือดร้อนหนักลามกระทบเป็นโดมิโน
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,597 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563