วันที่ 14 สิงหาคม 2563 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดงานเสวนา “จาก ล.ลิง ถึง ช. ช้าง จะก้าวไปกับโลกแบบ ท.ไทย หรือจะเอายังไงกับ ท.เทศ" และมีการเสวนาในหัวข้อ “จาก ล. ลิงถึง ช.ช้าง เมื่อ ฝ.ฝรั่งตั้งแง่เราเอาไง? มาตรฐานการดูแลสัตว์เพื่อการใช้งานไทยใครกำหนด” ซึ่งก่อนหน้านี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าไทยโดนข้อหา ใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว” มาแล้ว ประเทศอังกฤษแบนสินค้ากะทิและถูกถอดออกจากชั้นวางสินค้าในห้างขนาดใหญ่ 2-3 ห้าง มาแล้ว
นางศรีสุดา วนภิญโญศักดิ์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศด้านตลาดยุโรป แอฟริกาตะวันออกกลางและอเมริกา กล่าวว่า "ช้าง" มีความสำคัญกับการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวอยากเห็นช้างไทย อยากมีประสบการณ์กับช้าง ใน 1 ปี มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวช้าง ทั้งค่าเช้าชม ค่าของที่ระลึก พอมาถึงจุดหนึ่งการถูกโจมตีของชาวต่างชาติก็โจมตีมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ 2 ปีหนักหนาสาหัส เข้มข้น จากองค์กรต่างๆ ไม่ยอมรับอะไรต่างๆ ของประเทศไทย ไม่ใช่ให้แค่เสียภาพลักษณ์นำมาซึ่งความเสียหายทางการตลาดเป็นเรื่องที่มีอารมณ์ร่วมทั้งจากสื่อมวลชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งโซเซียลมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้เรื่องดังกล่าวลุกลามใหญ่โต
“ต้องยอมรับว่าเป็นเทรนด์ของโลก ใน60% นักท่องเที่ยวจะแสวงหาว่าในแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆมี โสเภณีเด็กหรือไม่ มีการรังแก หรือทารุณกรรมสัตว์ หรือไม่ ถ้ามีพวกนี้จะ "ต่อต้าน" ซึ่งไม่ใช่บอกแค่ตัวเองไม่มาแล้วก็จะบอกคนอื่น แล้วด่าคนที่มาเที่ยวด้วย พอเจอคลิปต่างนานาเผยแพร่ออกไป ยอมรับว่าควบคุมไม่ได้ แต่ก่อนหน้านี้ก็พยายามที่จะประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวประเทศไทย คลิปไหนที่มีช้างจะตัดออกเพราะไม่อยากไปมีปัญหากับลูกค้า แต่ว่าคลิปไหนที่มีช้างนำไปฉายในแถบอาเซียนแทน เพราะลูกค้าในแถบนี้ล้วนแล้วแต่อยากมาเที่ยวช้าง ส่วนลูกค้าสหภาพยุโรป (อียู)และสหรัฐอเมริกาโจมตีหนักไม่อยากให้เสียลูกค้า เพราะเราต้องการรายได้เข้าประเทศ ”
นางศรีสุดา กล่าวว่า 2 ปีมานี้ที่ถูกโจมตีหนักมากโดยบริษัทนักท่องเที่ยวในสหภาพยุโรป หรืออียู ถอดโปรแกรมการท่องเที่ยวที่มีการท่องเที่ยวช้าง อาทิ การอาบน้ำข้าง ขี่ข้าง เป็นต้น รวมทั้งบริษัทท่องเที่ยว ก็คือ สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสหราชอาณาจักร หรือ ABTA ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในยุโรปกว่า 4,300 บริษัท ไม่มีโปรแกรมช้างบรรจุในแพ็กเกจการท่องเที่ยวเมืองไทยเลย อีกทั้งยังต่อต้านด้วย
อาทิ การขี่ข้าง ก็คือการทำลายช้าง เป็นต้น เพราะได้รับข้อมูลจากสื่อต่างนานาว่า กว่าช้างจะมาให้คนขี่ได้ผ่านการฝึกอย่างหนัก เป็นการทารุณกรรมสัตว์ และการทำร้ายช้าง ยอมรับว่าจะต้องสื่อสารอย่างหนักเพื่อให้เปลี่ยนความคิด จะต้องสื่อคนไทยทั้งประเทศเข้าใจกันก่อน และขอความร่วมมือ เพื่อจะต้องทำให้ความคิดไปทางเดียวกัน เพราะ "คลิปส่วนใหญ่ที่ต่างชาติได้ก็มาจากคนไทยส่งไปให้"
นางศรีสุดา กล่าวว่า วันนี้ก้าวใหม่ของ ททท.ที่จะทำก็คือ “Elephant Care Tourism” ผนึกความร่วมมือทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ บริษัทนำเที่ยว สมาคม ชมรมที่เกี่ยวข้องกับช้างช่วยกันสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพช้าง ตลอดจนปรับภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในต่างประเทศ ไม่ต่างจากกรณีก่อนหน้าที่ไทยโดนกล่าวหา ใช้แรงงานลิง "ลิงเก็บมะพร้าว"