จากมาตรการสนับสนุนไทยเที่ยวไทยของรัฐบาล ภายใต้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ซึ่งปัจจุบันมีการใช้สิทธิ์แค่ 550,000 คืน จากจำนวนห้องพักที่เปิดให้จองจำนวน 5 ล้านคืน
การจองห้องพัก จัดว่ามียอดการจองที่ค่อนข้างช้า จึงต้องมีการทบทวนหลักเกณฑ์และขยายสิทธิ์เพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นการจองห้องพักและการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
นายสมิทธิ์ พนมยงค์ ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ระบุหลังการประชุม ศบศ. ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับเกณฑ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โดยขยายสิทธิ์ดังนี้
1.ขยายการจองสิทธิ์ ที่รัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายห้องพัก40% จากจองได้สูงสุด 5 คืนต่อคน ขยายเพิ่มเป็นสูงาด 10 คืนต่อคน
2.ขยายการสนับสนุนตั๋วเครื่องบินจาก 1,000 บาทต่อคน เป็น 2,000 บาทต่อคน
3.ขยายการใช้สิทธิ์จากเดิมผู้สามารถใช้สิทธิ์เป็นบุคคลธรรมดา เพิ่มเติมให้นิติบุคคล หรือ บริษัทเอกชนสามารถใช้สิทธิ์สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐค่าห้องพัก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนไทยไปเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลงทะเบียน www.เราเที่ยวด้วยกัน.com กับเรื่องที่ใครหลายคนยังเข้าใจผิด
เช็กด่วน www.เราเที่ยวด้วยกัน.com ลงทะเบียน อย่างไร ให้ได้รับสิทธิ์
ทั้งนี้ การปรับมาตรการจึงมุ่งเน้นการดึงเอกชนเข้ามากระตุ้นการบริโภคเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในจังหวัดระยะไกลและการใช้สิทธิ์วันธรรมดา โดยจะเสนอในการประชุม ครม. สัญจรในวันที่25ส.ค.นี้ ที่จ.ระยอง เพื่อขอความเห็นชอบ
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าการขยายกรอบมาตรการการท่องเที่ยว โดยดึงภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ให้มาใช้ประโยชน์จากโครงการนี้ เพื่อนำพนักงานของบริษัทไปท่องเที่ยว เช่น การจัดสัมมนา
เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่มีเดินทางท่องเที่ยวในระยะทางไกล เพราะฉะนั้น การปรับปรุงมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเที่ยวมากขึ้น และในระยะทางที่ไกลขึ้น
นอกจากนี้ มาตรการท่องเที่ยวที่อยู่ระหว่างการทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอ ศบศ. และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบต่อไปยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น การสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (บลจ,) ขนาดใหญ่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันในการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ
และสนับสนุนมาตรการทางภาษีอยู่ระหว่างการพิจารณา ยังไม่อยู่ในการรออนุมัติครั้งนี้
"การดึงภาคเอกชนที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำลังมาร่วมสนับสนุนการท่องเที่ยว อยู่บนหลักการว่า ขณะนี้ประเทศไทยต้องช่วยกัน รัฐบาลทำฝั่งเดียวไม่ได้ หรือ จะดึงประชาชนให้มาเที่ยวอย่างเดียวก็ไม่ได้ บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีกำลังสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยประเทศครั้งนี้ได้ มาตรการการให้บริษัทเอกชนมากระตุ้นตลาดในประเทศ เป็นอีกมาตรการที่จะออกมาต่างหาก ไม่เกี่ยวกับโครงการเราไปเที่ยวด้วยกัน เช่น การมีมาตรการภาษี แต่ยังไม่ชัดเจน ขอไปทำรายละเอียดก่อนว่า จะมีมาตรการจูงใจอย่างไรให้บริษัทเอกชนเข้ามา โดยรัฐจะจัดทำแพลตฟอร์มให้เอกชนเข้ามา"