นายสุเทพ คงมาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ(นบข.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำเมล็ดพันธุ์ กข87 มาทดลองให้ชาวนาจังหวัดนครศรีธรรมราช (เมืองคอน) ปลูกประมาณกว่า 100 ไร่ ซึ่ง วันนี้ (3 ก.ย.63) เริ่มเกี่ยวชุดแรกผลผลิตดี คุณภาพข้าวเปลือกดี อยู่ที่ 900 ตัน/ไร่ ใช้น้ำน้อยกว่า “กข79” อายุก็ใกล้เคียงกัน 110- 113 วัน ปลูกแล้วอายุไม่หนัก ขั้นตอนต่อไปจะอบความชื้นแล้วปล่อยทิ้งระยะประมาณ 1 อาทิตย์ จากนั้นค่อยนำไปสีแปรคุณภาพเมล็ดข้าวจะสู้ กข79 ได้หรือเปล่า ตั้งสีแปร กข79 ได้เนื้อข้าวมากกว่า 50% ดีกว่าทุกพันธุ์ที่สีแปร ส่วน “กข87” ให้ราคาข้าวเกี่ยวสด ตันละ 8,500 บาท
“ภาคใต้จะปลูกข้าวพันธุ์นุ่ม ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง นี่เป็นนาปรัง ส่วนนาปีจะเริ่มหว่านเดือนตุลาคม หลักของเรา ตั้งแต่พยายามรณรงค์ให้ปลูกข้าวที่มีผลผลิตต่อไร่สูง เพื่อที่จะให้ชาวนาลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ตั้งแต่พันธุ์กข79 และล่าสุด กข87 จะทำให้ชาวนามีทางเลือก และมีเงินเหลือใช้มากขึ้น"
แหล่งข่าววงการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าว เผย ว่าข้าวเบอร์4 หรือ “กข87” ยังไม่ได้รับรองพันธุ์ และ ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ยังขายไม่ได้ กำลังรอการพิจารณาจากคณะกรรมการว่าจะอนุมัติการรับรองพันธุ์หรือไม่ เมื่อรับรองพันธุ์ข้าว ก็คาดว่าจะให้ผู้ประกอบการรวบรวมเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการจะขาย จะต้องขอเลข พ.พ. หรือ เลขทะเบียนประจำพันธุ์ทางการค้า (เมล็ดพันธุ์ข้าว 1 พันธุ์ 1 เครื่องหมายการค้า จะมี 1 เลข พ.พ.) ต้องรออีก 1 ปี
“พันธุ์ข้าวนิ่มที่วงการข้าวเรียกติดปากว่า “เบอร์4” หรือ “กข87” อายุประมาณ กข79 ยาวไป ไม่โดนใจชาวนา ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ข้าว 5 ปี มีคอนเซปต์ “สั้น เตี้ย ดก ดี” คือ อายุสั้น ต้นเตี้ย ผลผลิตดี และคุณภาพสีแปรดี แต่ตอนนี้ได้แล้วคุณภาพ เตี้ย ดก แต่อายุสั้นยังไม่ได้ ยังเป็นพันธุ์อายุยาว อย่างไรก็ดีตามแผนตามยุทธศาสตร์ 5 ปี กรมการข้าวจะมีพันธุ์ออกใหม่มาอีก 12 พันธุ์”
แหล่งข่าว กล่าวว่า ในระหว่างนี้ได้แต่เอาใจช่วยกรมการข้าวที่เหลือระยะเวลาจะปล่อยในปีหน้า ก็ให้พยายามทำให้พันธุ์ กข87 ให้มีอายุประมาณ 90-100 วัน ให้ดีกว่าข้าวหอมเวียดนาม หรือข้าวหอมพวง ที่ยังยึดนาไทยอยู่ปลูกกันพรึบทั้งประเทศ เพราะคุณสมบัติที่ชาวนาชอบก็ “สั้น เตี้ย ดก และดี"ซึ่งวันนี้ก็มีการขายแอบขายพันธุ์ เพราะไม่รู้เป็นพันธุ์ข้าวของใคร กรมการข้าวจะให้อยู่ในสถานะไหน ก็ยังคลุมเครือ ย้ำพันธุ์ที่มาใหม่จะตองต้องดีกว่าด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่มีพันธุ์ไหนมาฆ่าให้ข้าวหอมเวียดนามหรือข้าวหอมพวงตายได้
ขณะที่ นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ประชุมคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว ครั้งที่ 1/2563 (15 ก.ค.63) ประกอบด้วยกรรมการจากหลายส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมค้าข้าวไทย เป็นต้น โดยกรมการข้าวได้เสนอรับรองพันธุ์ข้าว จำนวน 3 สายพันธุ์ แต่ได้รับรอง 2 สายพันธุ์ ได้แก่ 1. PSL07023-CNT-18-2-1-3 หรือ “กข85” และ 2. CNTC04001-4 หรือ “ข้าวขาวเจ๊กชัยนาท4” แต่ในพันธุ์ข้าวที่ 3 PTT03019-18-2-7-4 หรือคนในวงการข้าวจะรู้จักในชื่อของ “เบอร์4” ชื่อที่เป็นทางการก็คือ “กข87” "เห็นควรรับรองพันธุ์ แต่ให้สงวนสิทธิ์ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนก่อน" เป็นระยะเวลา 30 วันนั้น คาดว่าครบกำหนดแล้ว กรมการข้าวก็น่าที่จะรับรองพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว ควรที่จะเร่งในการออกใบ พ.พ.ให้กับผู้ที่จะนำไปจำหน่ายให้กับชาวนาต่อไปเพราะในช่วงนี้อยู่ในช่วงฤดูการทำนาอยู่แล้ว
“ส่วนในเรื่องข้อกังวลว่าผู้บริโภคจะมีความสับสนในเรื่องคุณภาพข้าวระหว่าง "ข้าวหอมมะลิ" กับ "ข้าวพันธุ์นุ่ม" หรือกลัวว่าจะมีการนำไปปลอมปน จนกลายเป็นการทำลายความเป็นหอมมะลิ 105 นั้นเป็นเรื่องยากเพราะผู้ที่รับซื้อข้าวสารจากโรงสีมีการตรวจ DNA ชัดเจน (แต่อาจจะเป็นปัญหาสำหรับโรงสี ในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพของข้าวเปลือกหากกายภาพของข้าวเปลือกมีความคล้ายคลึงกัน) มีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ และปัญหาที่เกี่ยวกับสินค้าข้าวที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภคภายในประเทศว่ามีคุณสมบัติตรงตามที่ฉลากระบุหรือไม่ด้วย”
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่อาจทำให้ผู้บริโภคสับสนได้ (กรณีฉลากและสินค้าทำให้เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดได้หรือไม่) จึงอยากจะให้ตระหนักในเรื่องเหล่านี้ด้วย โดยทั้งนี้ผู้ซื้อข้าวสารหอมมะลิคือมีความตั้งใจที่จะซื้อข้าวหอมมะลิ ผู้ขายข้าวสารก็ขายและส่งมอบเป็นข้าวสารหอมมะลิเป็นปกติ ส่วนเรื่องของความหอมความหอมที่ลดลงนั้น อาจเป็นการลดลงตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เพราะจากที่ได้สังเกต หากปีไหนแล้งข้าวหอมมะลิก็จะมีความหอมมากกว่าปีที่สมบูรณ์ ปัจจุบันการเก็บเกี่ยวเป็นการเก็บเกี่ยวข้าวสดที่มีความชื้นสูงก็อาจมีผลต่อความหอมอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวิจัย (ในอดีต เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาและไปสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ในปัจจุบันเริ่มเก็บเกี่ยวปลายเดือนตุลาจะสิ้นสุดประมาณต้นเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นข้าวเกี่ยวสด) ซึ่งทั้งนี้ความเป็นสาวสวย ”หอมมะลิ” ของไทยนั้นมีอายุอานามผ่านมากว่า 50 ปีแล้ว ควรต้องมีการปรับปรุงพัฒนาพันธ์ุ อย่างไรก็ดีเราจึงจำเป็นต้องแยก 2 เรื่องออกจากกันก่อน เรื่องที่ 1) เรื่องพัฒนาพันธุ์หอมมะลิ105 แยกจากเรื่อง 2) การทำตลาดหรือการขยายส่วนแบ่งตลาดเพื่อคงปริมาณและมูลค่าส่งออกเพื่อแข่งขันในตลาดโลกก่อน
หากไม่พูดถึงข้าวพื้นแข็งที่มีการส่งออกลดลงเพราะแนวโน้มตลาดผู้บริโภคเปลี่ยนไปบริโภคข้าวนุ่มค่อนข้างชัดเจน แต่ที่น่าสังเกตและให้ความสำคัญอย่างยิ่งที่ว่า “อะไรคือเหตุผลตลาดผู้บริโภคทั่วโลกลดการซื้อข้าวเกรดพรีเมี่ยมอย่างหอมมะลิของไทยลง” อาจด้วยเพราะราคาที่สูงมากจึงหันไปบริโภคตัวรองลงมา แม้จะไม่หอมแต่ผู้ซื้อทราบและรับรู้ว่าถ้าอยากได้พรีเมี่ยมต้องซื้อหอมมะลิ แต่ถ้าอยากได้ราคาที่ถูกลงข้าวพื้นนุ่มก็เป็นอีกทางเลือกที่ทดแทนกันได้ ดังนั้นต้องแยกออกเป็น 2 เรื่อง 1) คือเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ105 ให้ดียิ่งขึ้น คือหากความหอมของข้าวหอมมะลิไทยนั้นลดลงและมีผลผลิตค่อนข้างต่ำ ต้องวิจัยหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ถ้าลดลงจริงต้องมีการทดลองเก็บข้อมูลและหาวิธีพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม และหาวิธีการพัฒนาเพื่อที่จะคงคุณสมบัติโดดเด่นของข้าวหอมมะลิไว้ในระดับที่โดดเด่นชัดเจน ควรเร่งหาวิธีและศึกษาถึงความเป็นไปได้ว่ามากน้อยเพียงใด ที่สำคัญผลผลิตต้องดีขึ้นกว่าเดิม
ส่วนเรื่องที่2 คือเรื่องการทำตลาดที่ เป็นความจริงที่ว่าทุกกลุ่มตลาดในโลกมีความหลากหลาย มีกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าพรีเมี่ยมจำนวนหนึ่ง แต่ก็มีกลุ่มตลาดกลาง (ที่อาจมีจำนวนมาก หรือที่เรียกว่าตลาดแมส) ซึ่งหากเราประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกข้าวลำดับต้นของโลกไม่อยากเสียสัดส่วนของภาคการส่งออกส่วนนี้ไป การครองส่วนแบ่งในทุกกลุ่มชั้นตลาด มีทางเลือกให้ทั้งลูกค้า/ผู้บริโภค ได้ซื้อข้าวจากเราอย่างหลากหลายตามที่แต่ละกลุ่มต้องการก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งเกษตรกรของเราสามารถที่จะตัดสินใจเลือกปลูกพันธุ์ตามความเหมาะสมของโจทย์ของแต่ละคน รวมถึงผู้รับซื้อแต่ละพื้นที่ ว่าเหมาะสมอย่างไรหรือไม่
ยกตัวอย่าง เช่น ข้าวหอมปทุมธานี1 เมือ 20 ปีก่อน ช่วงที่พันธ์ุนี้ออกมาใหม่ๆได้มีการต่อต้านอย่างรุนแรง ว่าถึงกับมีการใช้คำว่า ”ลูกฆ่าแม่” จะทำให้ข้าวหอมมะลิมีปัญหา โดยจะมาทำลายข้าวหอมมะลิ เพราะข้าวหอมปทุมธานี1 นั้น มีความหอม เหนียวนุ่ม เราต่างกลัวว่าจะแย่งสัดส่วนตลาดข้าวหอมมะลิ กลัวเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิจะได้รับผลกระทบและผู้บริโภคจะสับสน จนอาจมีผลทำให้ข้าวหอมมะลิมีราคาลง แต่ในทางกลับกัน ปัจจุบันทุกวันนี้ข้าวหอมปทุมธานี1มีที่อยู่ที่ยืนที่ชัดเจน และจัดอยู่ในกลุ่มข้าวหอมไทย ซึ่งเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศเป็นอย่างดีมีส่วนแบ่งในตลาดส่งออกรองจากหอมมะลิ ส่วนเรื่องของการเพาะปลูกข้าวหอมปทุมธานี1 ก็มีการเพาะปลูกในบางพื้นที่ที่เหมาะสม ตามความนิยม ความถนัด ของเกษตรกร แต่ก็ไม่ใช้ทุกคนที่หันมาปลูกข้าวชนิดเดียวกันทั้งหมด
ข่าวเกี่ยวข้อง
ค้านรับรองพันธุ์ข้าว “กข87” หรือ “เบอร์4”
เดือด ระอุ ไม่รับรองพันธุ์ข้าว “กข87”