แม้ล่าสุด คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. จะมีมติให้ใช้งบประมาณวงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท จัดทำโครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย เช่นเดียวกับชิมช้อปใช้ โดยแจกเงินให้คนละไม่เกิน 3,000 บาทจำนวน 15 ล้านคน เพื่อนำไปใช้จ่ายในร้านโชห่วย หาบเร่ แผงลอยเป็นหลัก พร้อมกับเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจ้างงานใหม่โดยรัฐบาลจะสนับสนุนเงินค่าจ้าง 50% สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน แต่เป็นมาตรการไปยังกลุ่มประชาชนฐานรากเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อ เป็นอีกกลุ่มที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดการจับจ่าย เพื่อสร้างให้เศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียน
สะพัด 1.3 แสนล้าน
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” หลังเป็นตัวแทนเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า การนำเสนอแนวคิดและข้อเสนอในการพัฒนาภาคธุรกิจค้าปลีกไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในครั้งนี้ จะเป็นอีกแรงสนับสนุนไปยังกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อ ให้ออกมาจับจ่ายใช้เงิน ผ่านโครงการช็อปช่วยชาติ ซึ่งภาครัฐจะใช้เงินสนับสนุนน้อยมาก ควบคู่ไปกับมาตรการของศบศ. ที่มุ่งเน้นประชาชนฐานราก
“มาตราการของศบศ. จะมุ่งเน้นกลุ่มประชาชนฐานรากเป็นหลัก ส่วนมาตรการช็อปช่วยชาติที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยนำเสนอ จะมุ่งเจาะกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อ ให้ออกมาจับจ่ายใช้สอย ถือเป็นแรงผลักดันให้ทั้งสองกลุ่มได้ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน และทำให้มีเงินสะพัดรวมเกือบ 1.3 แสนล้านบาท จากวงเงินงบประมาณของศบศ. 4.5 หมื่นล้านบาท และช้อปช่วยชาติอีกกว่า 7.5 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว”
อย่างไรก็ดี การนำเสนอแนวคิดในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจและยืนยันว่าหลายเรื่องอยู่ระหว่างการดำเนินการ และรัฐบาลพร้อมพิจารณา เพื่อนำไปใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ชง 3 แนวทางหลัก
สำหรับแนวทางและข้อเสนอ ประกอบด้วย 1. ด้านแรงงาน โดยเสนอให้กระทรวงแรงงานประกาศค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายชั่วโมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น ซึ่งจะทำให้สามารถจ้างงานได้มากขึ้น 20% สร้างงานได้เพิ่มกว่า 1.2 ล้านอัตรา ขณะเดียวกันหากเปิดรับพนักงานใหม่ นอกจากรัฐบาลจะสนับสนุนด้านค่าจ้างให้แล้ว ยังมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือนำค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่าเพื่อพยุงการจ้างงานเดิม
2. ด้านการบริโภค เสนอให้รัฐบาลกระตุ้นการจับจ่ายผ่านโครงการ “ช้อปช่วยชาติ” โดยสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าได้ทุกประเภทในวงเงิน 5 หมื่นบาท ระยะเวลาอย่างน้อย 60 วัน ไปลดหย่อนภาษี ซึ่งคาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 7.5 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายในกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งมีอยู่กว่า 8 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่นิยมเที่ยวต่างประเทศ ช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม
พบว่าในปี 2557 คนไทยซื้อสินค้าแบรนด์เนมสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ดังนั้นหากปรับลดภาษีนำเข้าลงจะช่วยให้เกิดการจับจ่ายในประเทศแทน จึงเสนอให้ทดลองปรับลดภาษีนำเข้าเหลือ 10% จากเดิม 30% เป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัด 2.5 หมื่นล้านบาท
3. ด้านผู้ประกอบการรายย่อย SMEs และเกษตรกร รัฐบาลควรปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) 0.1% ผ่านผู้ค้าปลีกรายใหญ่ โดยใช้งบประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทจากวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลตั้งไว้แล้ว โดยเร่งจ่ายเงินให้กับ SMEs ขนาดเล็กภายใน 7 วัน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับวิสาหกิจ SMEs และเกษตรกร ภาคผลิต Micro SMEs ที่ประกอบธุรกิจในศูนย์การค้าซึ่งมีอยู่กว่า 4 แสนราย ทำให้ธุรกิจแข็งแรง และไม่สร้างหนี้เสียให้กับธนาคารพาณิชย์
ลุยลงทุน 1.7 แสนล.
ด้านนางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ อดีตนายกสมาคมศูนย์การค้าไทย และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น กล่าวว่า ผู้ประกอบการศูนย์การค้าได้นำเสนอแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวออกเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะสั้น กลาง และยาว โดยแผนระยะสั้น มุ่งส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ผ่านมาตรการต่างๆของภาครัฐ พร้อมขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาด้านภาษีและค่าใช้จ่ายต่างๆ แผนระยะกลาง ส่งเสริมการลงทุนพร้อมยกระดับธุรกิจศูนย์การค้าให้อยู่ในแผนแม่บทพัฒนาประเทศ และแผนระยะยาว ผลักดันให้ศูนย์การค้าไทยเป็นเดสติเนชั่นของการท่องเที่ยวในระดับโลก
“หากภาครัฐผลักดันและดำเนินการตามข้อเสนอนี้ จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าเดินหน้าตามแผนการลงทุนที่วางไว้กว่า 1.71 แสนล้านบาทภายใน 3 ปี และเกิดการจ้างงาน กระจายรายได้ ขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้เดินหน้าอย่างรวดเร็ว”
สำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีก-ค้าส่งถือเป็นต้นทางการขับเคลื่อน Eco System ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผลักดันให้เศรษฐกิจมีการเติบโต มีสัดส่วน GDP 16.1% เป็นอันดับ 2 รองจากภาคอุตสาหกรรม มีมูลค่าการบริโภคภาคค้าปลีกสินค้า ( Retail Consumption)กว่า 4.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 60% ของการบริโภคเอกชน เชื่อมโยงกับผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และเกษตรกรกว่า 1.3 ล้านรายสู่ผู้บริโภค เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากพิษโควิด-19 และที่ผ่านมายังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง