ชงตั้งกองทุนแสนล.ดึงเงินร่วมลงทุนฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวโคม่า

08 ก.ย. 2563 | 03:15 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2563 | 05:58 น.

ทีเอชเอ ร้องบิ๊กตู่ จ่อชง 4 มาตรการเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่ม ขอรัฐตั้งกองทุนเปิดพัฒนาฟื้นฟูธุรกิจ วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยเข้าไปร่วมลงทุน-ให้สิทธิซื้อคืน ดัน 3 เงื่อนไขซอฟต์โลน อุ้มโรงแรมเอสเอ็มอี โฟกัสลองสเตย์ต่างชาติเข้าไทย

สมาคมโรงแรมไทย ร้องบิ๊กตู่ จ่อชง 4 มาตรการเยียวยาธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่ม  ขอรัฐ ตั้งกองทุนเปิดพัฒนาฟื้นฟูธุรกิจ วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยเข้าไปร่วมลงทุน 7 ปี พร้อมเปิดสิทธิซื้อคืนได้ผลตอบแทน 1% ต่อปี ร้องขอ 3 เงื่อนไขอัดฉีดซอฟต์โลน อุ้มโรงแรมเอสเอ็มอี โฟกัสลองสเตย์ต่างชาติเข้าไทย หนุนดึงต่างชาติพำนักในไทย ใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกัน

สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) อยู่ระหว่างเตรียมเสนอมาตรการการเยียวยา และบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเพิ่มเติม  เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรี ผลักดันให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ช่วยเหลือและลดความตึงเครียด ให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้ต่อไป โดยไม่ต้องกลายเป็นเอ็นพีแอล จนต้องปิดกิจการ หรือขายกิจการ และชลอการเลิกจ้างงานที่จะเกิดขึ้นเพิ่มไปอีก

เนื่องจากปัจจุบันแม้รัฐบาลจะคลายล็อกดาวน์ แต่ธุรกิจโรงแรมในภาพรวมของไทย ยังคงปิดกิจการอยู่กว่า 50% โดยเฉพาะโรงแรมที่อยู่ในจังหวัดที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เช่น จ.ภูเก็ต ขณะนี้มีโรงแรมกลับมาเปิดให้บริการได้เพียง 10% เท่านั้น ประกอบกับขณะนี้แม้ภาครัฐจะมีโครงการเพื่อกระตุ้นการเดินทางภายในประเทศมากขึ้น แต่โครงการก็ยังไม่ส่งผลตอบรับอย่างชัดเจน

ตั้งกองทุน1แสนล.

ล่าสุดสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอช)ได้ประเมินแล้วว่าปัจจุบันบุคลากรในธุรกิจโรงแรม ตกงานถึง 1 ล้านคน มีความต้องการจ้างงานลดลง 75% และหากยังมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศเช่นนี้ และไทยยังไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวจนถึงกลางปี64 จะส่งผลให้เงินหมุนเวียนของธุรกิจจะลดน้อยลงยิ่งขึ้น ท้ายสุดธุรกิจโรงแรมอาจต้องกลายเป็นหนี้เสีย ปิดตัวลงหรือขายกิจการ

ส่วนโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ในปัจจุบัน หลายแห่งก็ไม่สามารถสร้างยอดขายให้สูงกว่าจุดคุ้มทุนได้  ส่วนโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ในปัจจุบัน หลายแห่งก็ไม่สามารถสร้างยอดขายให้สูงกว่าจุดคุ้มทุนได้  ซึ่งก็จะทำให้เกิดการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น

มาริสา สุโกศล

นางมาริสา  สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าทีเอชเอ อยู่ระหว่างสรุปข้อเสนอมาตรการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เพื่อเตรียมขอให้ นายกรัฐมนตรี ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยหลักๆจะมี 4 มาตรการ ได้แก่

1.มาตรการสนับสนุนทางการเงิน โดยขอให้กระทรวงการคลัง ตั้งกองทุนเปิด เพื่อพัฒนา และฟื้นฟูกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยเข้าไปร่วมลงทุนในส่วนทุน ของแต่ละกิจการ ระยะเวลา 7 ปี และเปิดสิทธิรับซื้อคืนได้ในผลตอบแทน 1% ต่อปี ของกองทุนทั้งทีเอชเอ ยังได้เสนอเพิ่มเติม เรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเงินกู้ ซอฟต์โลน เพื่อช่วยเหลือโรงแรมขนาดกลางและเล็ก

โดยการสนับสนุน ซอฟต์โลน ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้แก่ธุรกิจโรงแรม ผ่านธนาคารพาณิชย์ ในกรณีหนี้คงเหลือเดิมกับสถาบันการเงิน ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นคงคงที่ 2% พร้อมทั้งพักการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 2-3 ปี 

รวมถึงขอวงเงินสนับสนุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ โดยให้อนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ถึง 20%จากวงเงินกู้เดิมกับสถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ย 2% โดยปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2-3 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว ให้แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยตํ่าผ่อนชำระกับธนาคารพาณิชย์ หากลูกค้ามีหลักประกันไม่พอ ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้คํ้าประกัน 100%

ส่วนกรณีพักชำระหนี้เงินต้น พักชำระดอกเบี้ย หรือขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ให้ถือว่า ไม่เข้าเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สำหรับธุรกิจโรงแรม ที่ขาดรายได้จากผลกระทบของโควิด-19

วอนทยอยเปิดรับต่างชาติ

2. มาตรการเปิดประเทศเพื่อรับชาวต่างเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยมีมาตรการควบคุม โดยนอกเหนือจาก 11 กลุ่ม ที่ได้รับการยกเว้นให้เข้าไทยได้แล้ว ก็ขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการเปิดรับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะอาศัยอยู่ในไทยระยะยาว

เช่น กลุ่มที่ได้รับลองสเตย์ วีซ่า หรือกลุ่มวีซ่าเกษียณ โดยพิจารณาให้วีซ่ากับนักเดินทางที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สามารถอยู่ในไทยได้1-2 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะเดินทางเข้าไทย พร้อมกันนี้รัฐสามารถให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย เมื่อต้องเดินทางเข้ามากักตัวโน โรงแรม Alternative State Quarantine (ASQ) ในช่วง 14 วันแรกอีกด้วย

รวมทั้งขอให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบจำกัดพิ้นที่ เช่น ภูเก็ต โมเดล และรับเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศหรือเมืองที่ได้มีการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้ดี เช่น ไต้หวัน เวียดนาม ลาว กัมพูชา และในพื้นที่บางส่วนของจีน เป็นต้น โดยการกักตัวแบบลักษณะจำกัดพื้นที่นี้รัฐต้องช่วยสร้างความเข้าใจและความมั่นใจจากประชาชน

ชงตั้งกองทุนแสนล.ดึงเงินร่วมลงทุนฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวโคม่า

ทั้งยังเสนอขอให้นักธุรกิจและนักลงทุนที่ต้องการเดินทางเข้ามาประชุม หรือเจรจาธุรกิจระยะสั้นน้อยกว่า 14 วัน สามารถเดินทางเข้าไทยได้ ภายใต้การควบคุมของบริษัททัวร์ที่ได้รับการอบรมและรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยมีผู้ติดตามที่เป็นบุคคลากรทางการแพทย์ประกบด้วย โดยเข้าพักในโรงแรม ASQ และมีบริษัททัวร์ที่ผ่านการอบรมจากกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบ

ปรับเกณฑ์‘เราเที่ยวด้วยกัน’

3.มาตราการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยขอให้ปรับเงื่อนไขโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ให้มีความยืดหยุ่นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการจองห้องพักเพิ่มขึน อาทิ เปลี่ยนจากจองล่วงหน้าภายใน 3 วันเป็น 1 วัน ให้ผู้จองสามารถเปลี่ยนจำนวนห้องและวันเข้าพักได้ ให้จองห้องพักภายในจังหวัดของตนได้ ไม่ต้องจองข้ามจังหวัด เพราะโรงแรมในกรุงเทพฯยังมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยน้อยกว่า 10% และยังมีความต้องการพักแบบ Staycation

อีกทั้งขอเสนอให้เพิ่มเงินสนับสนุนจาก 40% เป็น 50% ในวันเสาร์-อาทิตย์ และสนับสนุนค่าใช้จ่าย 60% ในวันธรรมดา และขอให้เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงานในไทย พำนักในไทย (EXPAT) และชาวต่างชาติที่มีวีซ่าให้พำนักอยู่ในไทยระยะยาว สามารถจองห้องพักผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้

นอกจากนี้ยังขอให้บุคคลธรรมดานำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวไปหักภาษีรายได้ส่วนบุคคลได้ 2 เท่า ในวงเงิน 3 หมื่นบาทต่อปี สำหรับการใช้จ่ายในโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เป็นต้น

การขอให้ภาครัฐสนับสนุนการจองโรงแรม 50% โดยให้โรงแรมเสนอขายแพคเกจในราคาคงที่ในรูปแบบของวอลเชอร์ โดยขายผ่าน อี-คอมเมอร์ซ แพลตฟอร์ม เช่นเมื่อผู้บริโภค จองผ่าน Shopee และเข้าพักแล้วให้โรงแรมนำขั้วของวอลเชอร์ ไปรับเงินคืนจากธนาคารพาณิชย์ที่กำหนด  เป็นต้น

4.ข้อเสนอเยียวยาผู้ประกอบการ และบุคลากรภาคท่องเที่ยวอื่นๆ ได้แก่ การขอยืดระยะเวลาการจ่ายเงินเยียวยาจากประกันสังคม และลดอัตราเงินสมทบ เนื่องจากยังมีโรงแรมปิดกิจการอยู่เป็นจำนวนมาก โรงแรมที่เปิดแล้วยังไม่สามารถเปิดกิจการได้เต็มรูปแบบ และการเดินทางเข้าประเทศ จากนักท่องเที่ยวยังคงปริมาณจำกัด เพื่อรักษาการจ้างงานจึงขอให้พนักงานโรงแรมได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนประกันสังคม ในอัตรา 62% ของค่าจ้างรายวัน จาก 90 วัน เพิ่มอีก 90 วัน หรือตลอดระยะเวลาที่ประเทศไม่สามารถรับนักท่องเที่ยวได้เต็มรูปแบบ และขอปรับลดเงินสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เดิมฝ่ายละ5%เหลือฝ่ายละ 1% เป็นระยะเวลา 6 เดือน

อีกทั้งยังขอขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าโดยไม่คิดดอกเบี้ย ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าตํ่าสุด และจ่ายตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง การขยายเวลาควรสอดคล้องกับวันที่รัฐบาลกำหนดให้มีการเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง 

“ธุรกิจโรงแรมมีศักยภาพที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หากธุรกิจได้รับการเยียวยาให้ผ่านวิกฤติไปได้ ก็จะส่งผลดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ เมื่อท่องเที่ยวฟื้นตัว” นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ร่วงระนาว เอสเอ็มอีท่องเที่ยว เลิกกิจการพุ่ง ปิดแล้ว 240 ราย
เปิดสมมติฐาน ฉุด ท่องเที่ยวปี 63 ดิ่งเหลือ 8.4 แสนล.
สทท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นท่องเที่ยวQ2ต่ำสุดในรอบ10ปี

ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,607 วันที่ 6-9 กันยายน 2563