การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย (30 เม.ย.63) มีมติให้ "พาราควอต" และ "คลอร์ไพริฟอส" เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือครอบครอง) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วน "ไกลโฟเซต" ให้จำกัดการใช้ตามมติ วันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาผู้ค้าสารในประเทศมีความประสงค์จะขอให้กรมวิชาการเกษตรเปิดโควตานำเข้าไกลโฟเสตตั้งแต่ปี 2563 ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้เปิดโควตานำเข้าแล้ว และมีความคืบหน้าตามลำดับ
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การอนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ นำเข้าสารไกลโฟเซต กรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้พิจารณาว่าใครจะเป็นผู้มีคุณสมบัตินำเข้า อาจจะมีคนมาขอ 100 คน กรมตัดเหลือ 10 คน ก็ไม่รู้ว่าอีก 90 คนเป็นใครบ้าง ซึ่งก็ไม่เคยไปขอดูข้อมูลว่าทั้งหมดมีบริษัทใดบ้าง แต่รายชื่อที่ส่งมาให้หมายความว่าจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว
“กระบวนการพิจารณาจัดสรรโควตานำเข้าของกรมวิชาการเกษตร เมื่อได้รายชื่อแล้วจะส่งมาที่คณะที่ปรึกษาจะกลั่นกรองอีกครั้งหนึ่ง โดยจะมีข้อมูลว่าปีที่แล้วบริษัทนั้น ๆ มีการนำเข้าหรือไม่ ปีนี้จะขอนำเข้าเท่าไร จะขอนำเข้าเพิ่มได้หรือไม่ แล้วบริษัทที่ไม่เคยนำเข้ามาเลยแต่จะมาขอนำเข้า แบบนี้ก็ไม่ให้ ในรายที่เคยนำเข้าเช่นปีที่แล้วนำเข้า 2,000 ตัน อาจจะตัดเหลือ 1,000 ตัน แต่ถ้าให้รัฐมนตรีช่วยฯเป็นคนตัดโควตา อาจจะถูกตัดมากกว่าครึ่งด้วยซ้ำไป แต่จะพูดเป็นภาพรวมมากกว่า ไม่ลำเอียง แล้วต้องถัวเฉลี่ยให้เท่ากัน หรือมีการปรับสัดส่วนการขอนำเข้า ย้ำว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดสรรโควตาในครั้งนี้”
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่ามี "บริษัทเร่ขายโควตา" นำเข้า มองว่าเป็นไปไม่ได้ จะเร่ขายได้อย่างไรในเมื่อทางกรมเป็นผู้กำหนดมาให้อยู่แล้ว แล้วโควตาที่ได้ก็น้อยลง คิดว่าบริษัทเองก็ไม่น่าที่จะทำ เพราะเมื่อได้รับโควตาแล้วจะไปขายทำไม เอาไว้กับตัวเองไม่ดีกว่าหรือ เรื่องนี้แทบจะไม่มีมูลความจริงเลย แล้วคนที่จะไปเร่ขายเป็นใคร มีส่วนได้เสียอะไร แล้วในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะได้นำเข้าอีกหรือไม่ หากในอนาคตตนไม่ได้เป็นรัฐมนตรีฯแล้ว ก็คงไม่ไปขายสารเคมี เพราะทุกวันนี้ก็ไม่ได้ลำบากอะไร อยู่อย่างพอเพียง ที่สำคัญเรื่องโควตาตนก็ยังไม่เข้าใจเลย แต่ถูดพาดพิงมาตลอด
ด้าน นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า การกำหนดโควตานำเข้าไกลโฟเซต กรมวิชาการเกษตรจะกำหนดปริมาณการนำเข้าเป็นไปตามความต้องการใช้ของเกษตรกร ซึ่งได้มีการคำนวณว่าเกษตรกรต้องการใช้ 14 ล้านไร่ 1 ไร่ให้ใช้ครึ่งลิตรออกมาก็คือ 1.3 หมื่นตัน แต่เมื่อมีแบนพาราควอต คิดเผื่อไว้กรณีเกษตรกรจะนำไปใช้แทนพาราควอต นี่คือสิ่งที่คุยกัน
“ปี 2561 มีการนำเข้าไกลโฟเซต 5.6 หมื่นตัน ปี 2562 (จำกัดการใช้) นำเข้ามา 2.6 หมื่นตัน และล่าสุด ปี 2563 ได้อนุญาตให้บริษัทนำเข้ามาได้แค่ 1.3 หมื่นตัน หรือ แค่ 40% ของปี 2562 ยืนยันว่ารัฐมนตรีไม่มีใบอนุญาต ผมเป็นคนกลั่นกรองให้ท่าน มั่นใจการนำเข้าไกลโฟเซต ตรวจสอบได้และมีความยุติธรรม ยืนยันว่ารัฐมนตรีไม่เกี่ยวข้องและไม่เคยชี้นำว่าจะอนุญาตให้บริษัทไหน”
ขณะที่ ดร.วรณิกา นาควัชระ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทยหรือ “ไททา” กล่าวว่า การที่ไม่แบนสาร “ไกลโฟเซต” เพราะถูกบีบมาจากประเทศอื่น เกรงว่าจะมีปัญหาทางการค้า แต่เมื่อแบน 2 สารแล้ว การกำหนดสารตกค้างจะต้องเป็นหลักสากล ไม่เช่นนั้นจะมองว่ากีดกันทางการค้า และโอกาสที่จะพลิกมติไม่แบนซึ่งค่อนข้างยาก ต้องเปลี่ยนรัฐบาลเลย
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,608 วันที่ 10 - 12 กันยายน พ.ศ. 2563