นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากงานประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคมโรงสีข้าวไทยปี 2562 ได้รู้จักกับนายภูวินทร์ คงสวัสดิ์ ผู้แทน บริษัท อีซีไรซ์ เทคโนโลยี จำกัด เพื่อพบปะพูดคุย ตอบโจทย์ที่นายกสมาคมฯเคยให้ไว้ เรื่อง การหาเครื่องมือตรวจสอบ "ข้าวเปลือกหอมมะลิ" และ "ข้าวหอมปทุมธานี1" ที่สามารถแยกชนิดสายพันธุ์ข้าวชนิดอื่นเพื่อใช้งานภาคสนามในการรับซื้อข้าวเปลือกเกี่ยวสดจากเกษตรกรและผู้ค้าข้าวเปลือก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเครื่องมือดังกล่าว ส่วนที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นการใช้ความชำนาญและทักษะของผู้ประกอบการเอง ก็คือ ดูด้วยตาเปล่า
“แต่ถ้าจะดูเรื่องข้าวเปลือกที่มีพันธุ์ข้าวชนิดอื่นปนหรือไม่ ก็ต้องผ่านขั้นตอนทำให้ข้าวแห้งก่อนแล้วจึงนำมาต้มกดกระจกหรือย้อมสี หรือตรวจสอบ DNA ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจะต้องใช้เวลามากในการตรวจสอบแต่ละขั้นตอน ซึ่งไม่ตอบโจทย์ไม่สอดคล้องกับการทำงานในภาคสนาม ปัจจุบันการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ออกมามีความใกล้เคียงกันมากดูด้วยสายตาแทบแยกไม่ออกจากการพูดคุยวันนี้ ผู้แทนบริษัทฯดังกล่าวบอกว่าเข้าใจโจทย์แล้ว และสามารถที่จะคิดหาวิธีและเครื่องมือในการตรวจสอบได้นั้น”
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า ล่าสุด ทางบริษัทดังกล่าวได้มีหนังสือแจ้งการสร้างเทคโนโลยีที่สามารถตอบโจทย์ได้แล้ว เป็นงานวิจัย ต้นแบบในการพัฒนาเทคโนโลยี “Rice Classification Using Spatio-Spectral Deep Convolutional Neural Network” ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการตรวจสอบสายพันธุ์โดยประยุกต์ใช้กล้องไฮเปอร์เปกตรัมและสายพาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากประยุกต์ใช้เครื่องมือดังกล่าวในการตรวจสอบสายพันธุ์ข้าวมีหลากหลายสายพันธุ์มากชนิดกว่าที่สมาคมได้ร้องขอ นอกจากข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมปทุมธานี แล้วยังมี ข้าวชัยนาท1 ข้าวพิษณุโลก1 ซึ่งมีประสิทธิภาพความแม่นยำในการตรวจสอบอยู่ที่ 91.1% จะขอไปปรับปรุงต่อยอดงานวิจัยดังกล่าวให้มีความแม่นยำและเสถียรอีกทั้งสามารถนำมาใช้งานได้จริงในภาคอุตสาหกรรมข้าวไทยและจะแจ้งความคืบหน้าให้รับทราบต่อไป
“หากมีการคิดค้นสำเร็จ ผมคิดว่าทุกวันนี้โรงสีข้าวซื้อข้าวด้วยตา ใช้ตาแยกแยะชนิดข้าวเปลือกแต่ละพันธุ์แต่ละชนิด ทำให้การตรวจสอบของโรงสีมีความล่าช้า และหากมีเครื่องมือลักษณะนี้จะสามารถทำให้เราตรวจสอบข้าวได้เร็วขึ้น และจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และวงการค้าข้าว ต่างจากกระบวนการข้าวแห้ง ทุกวันนี้เราซื้อขายข้าวสดที่มีความชื้นสูงเกษตรกรก็นิยมเกี่ยวข้าวสด กระบวนการตรวจสอบต้องใช้เวลา และไม่สอดคล้องกับการซื้อขายในพื้นที่ เราต้องการเครื่องมือ ในการใช้งานในภาคสนามได้มากกว่าการวิเคราะห์ใน ห้องแล็ป เพื่อเป็นการป้องกันการผิดพลาดในการรับซื้อชนิดข้าว ซึ่งการรับซื้อหากคนรับซื้อไม่มั่นใจคนเสียผลประโยชน์จะกลายเป็นเกษตรกร และทำให้ผู้ซื้อลังเล ดังนั้นเพื่อให้การรับซื้อมีความคล่องตัว และตอบสนองเกษตรกรด้วยความรวดเร็ว จึงอยากที่จะเห็นเครื่องมือนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นจริงในวงการค้าข้าวที่จะสร้างความเป็นธรรมในการซื้อขายข้าวเกี่ยวสดอย่างเป็นธรรมได้ในอนาคต”