นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยมีมูลค่ากว่า 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งแน่นอนว่าจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การระบาดของโควิด 19 ประเมินว่าภาพรวมตลาดจะหายไปกว่า 30-40% หรือมีมูลค่าเหลือกว่า 2 แสนล้านบาทเท่านั้น ขณะที่การออกประกาศเรื่อง “ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการหรือในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563” มองว่าไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ว่าด้วยการส่งเสริมและผลักดันนโยบายการทำธุรกรรมออนไลน์ (สื่ออิเล็กทรอนิกส์)
“เรื่องของการขายผ่านออนไลน์โดยปกติจะมีกระบวนการและขั้นตอนวิธีการขาย ไม่ว่าจะเป็นการกรอกแบบฟอร์ม การกรอกแบบสอบถามด้านอายุ เพื่อตรวจสอบว่าผู้ที่สั่งซื้อเป็นใคร เพื่อป้องกันผู้ซื้อที่มีอายุตํ่ากว่า 20 ปี เข้ามาซื้อสินค้า ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ช่วยตรวจสอบและหน่วยงานของรัฐยังสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้อีกด้วย”
ขณะเดียวกันสิ่งที่ควรสั่งห้ามหรือตรวจสอบในช่องทางออนไลน์ควรเป็นรื่องของสินค้าแอลกอฮอล์ผิดกฎหมาย (สุราเถื่อน) เรื่องของการพนันออนไลน์มากกว่า การขายของเถื่อน (หลอกพรีออร์เดอร์) ที่มีอยู่มากมาย คือสิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการมากกว่า เพราะปัญหานี้ยังคงระบาดอย่างหนักและไม่ได้รับการแก้ไขและโดยส่วนตัวมองว่าปัญหาดังกล่าวกระทบและก่อความเสียหายให้แก่ภาครัฐมากที่สุด ทั้งเรื่อง ของปลอม ของหนีภาษี และหลอกลวงประชาชน
ทั้งนี้การออกประกาศดังกล่าวมองว่าวิธีคิดในการออกกฏหมายทุกครั้งที่ออกมาไม่มีวิธีคิดในการควบคุม แต่เป็นวิธีคิดในการกำจัดอย่างเดียว ซึ่งสิ่งที่แก้ปัญหาคือการค้นหาเครื่องมือและกฎหมายบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้านนายภัทร์ ไทรเล็กทิม ผู้อำนวยการฝ่ายขาย บริษัท อินดิเพนเดนส์ ไวน์ แอนด์ สปิริต (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายไวน์ระดับพรีเมี่ยมทั้งในประเทศไทย และภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่าการควบคุมภาครัฐสามารถจำกัด ช่วงอายุ เวลา ในการซื้อผ่านออนไลน์ได้ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรควบคุมมากกว่า การห้ามจำหน่ายดังกล่าวยังส่งผลต่อภาคแรงงานในระบบที่ต้องตกงานจากการยกเลิกแผนงานในส่วนของออนไลน์ไปเป็นจำนวนมาก
การระบาดของโควิด-19 มีผู้ประกอบการหลายรายเริ่มวางแผนงานในส่วนของออนไลน์ แต่เมื่อมีประกาศดังกล่าวทำให้หลายบริษัทต้องยกเลิกแผนงาน ยกเลิกการจ้างงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานส่งสินค้า พนักงานไอที หรืแม้กระทั่งบุคลากรภายในองค์กรสำหรับแผนงานของบริษัทนับจากนี้จะเป็นการยกเลิกยุทธศาสตร์ด้านออนไลน์ที่วางไว้ทั้งหมดและหันมาโฟกัสการทำตลาดที่ช่องทางออฟไลน์แทนแบบ 100% เพื่อรองรับกับมาตรการดังกล่าว
ขณะที่ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้มองได้ 2 มุม คือ 1.หากห้ามขายทางออนไลน์เลยก็มองได้ว่าเป็นการกีดกันการค้ากลายๆ และ 2.หากไม่กีดกันก็จะถูกมองว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติดหาซื้อหาได้ง่าย หรือมอมเมาประชาชนมากเกินไปหรือไม่ ดังนั้นมีข้อเสนอว่า การขายเครื่องดื่มทางออนไลน์ควรมีการกำหนดระยะเวลาการขายเพื่อผ่อนปรนให้ผู้ค้ามีช่องทางการจำหน่ายมากขึ้นในช่วงสถาน การณ์โควิดที่ผู้บริโภคลดการเดินทางในการซื้อหาสินค้าน้อยลง เช่นอาจกำหนดให้ขายทางออนไลน์ได้ตั้งแต่ 14.00-18.00 น.เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกชน-สมาคม วอนรัฐทบทวน ห้ามขายแอลกอฮอล์ออนไลน์