บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ “เซ็นทรัลแล็บไทย” จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2546 ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 49% และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (สสว.) 51% เป็นห้องปฏิบัติการของรัฐที่มีเครื่องมืออุปกรณ์และระบบมาตรฐานสากลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 มากกว่า 1,000 รายการทดสอบ รองรับงานทดสอบได้มากกว่า 2 แสนตัวอย่างต่อปี “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์” กรรมการผู้อำนวยการ เซ็นทรัลแล็บไทย ป้ายแดง ถึงวิสัยทัศน์และนโยบายการขับเคลื่อนองค์กร
รู้จัก “เซ็นทรัลแล็บไทย”
นายชาคริต กล่าวว่า นโยบายเซ็นทรัลแล็บไทยคือ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือยกระดับสินค้าชุมชนโอท็อป และเอสเอ็มอีทั่วประเทศ เป็นห้องปฏิบัติการของรัฐที่เปิดดำเนินงานมาแล้วกว่า 17 ปี ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการ 6 สาขา ตั้งอยู่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร สงขลา และกรุงเทพฯ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 เพื่อรองรับปีแห่งอาหารปลอดภัยของประเทศไทย (Thailand Food safety Year 2004) โดยมุ่งเน้นการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารเป็นหลัก ด้วยความรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ สำหรับบริการด้านการส่งออกแบบรวดเร็วเบ็ดเสร็จ (One Stop & Fast Services) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า ผู้ผลิต และผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศ
“บริษัทมีเครื่องมือและระบบมาตรฐานสากล สามารถรองรับงานทดสอบได้มากกว่า 2 แสนตัวอย่างต่อปี (กราฟิกประกอบ) มีตราสัญลักษณ์ Q ที่หมายถึงคุณภาพ และธงชาติไทยที่ฐานของ Q ที่แสดงถึงความเป็นรัฐที่จะตอบสนองต่อความปลอดภัยของสินค้าไทยที่จำหน่ายไปทั่วโลกสามารถให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์มาตรฐานสินค้าให้กับกลุ่มผู้ส่งออก กลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจการเกษตร SMEs OTOP วิสาหกิจชุมชน เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถติดต่อเราได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่องทางเว็บไซต์ หรือติดต่อมาที่สาขา หรือมีตัวอย่างให้พนักงานเราไปรับได้”
ตลาด 7พันล.แข่งเดือด
สำหรับตลาดอุตสาหกรรมเครื่องมือห้องปฏิบัติการของไทย ณ ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 7,000 ล้านบาท โดยบริษัทอยู่ในลำดับที่ 4 มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 10% ส่วนอันดับ 1 จากสวิสเซอร์แลนด์ อันดับ 2 จากอังกฤษ ลำดับที่ 3 จากออสเตรเลีย และลำดับที่ 5 จากสหภาพยุโรป, เยอรมนี, ฝรั่งเศส เป็นต้น ทั้งนี้หากรัฐบาลในวันนั้นไม่ตั้ง “เซ็นทรัลแล็บ” ขึ้นมา เชื่อว่าห้องแล็บไทยรายอื่นๆ ซึ่งเป็นรายย่อยก็ไม่ได้เกิด คงอยู่ในมือต่างชาติหมด อย่างน้อยก็เป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการไม่ให้เงินตราไหลออกนอกประเทศ และใช้เป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบราคา ทำให้ผู้ประกอบการมีอำนาจต่อรองหากต้องการใช้บริษัทต่างประเทศในไทย แต่ไม่ใช่บริษัทต่างชาติไม่ดี ก็ว่าจ้างคนไทย แต่แน่นอนบริษัทต่างชาติก็ต้องมีผลกำไร คืนสู่บริษัทแม่ที่เป็นต้นทาง
ไม่เกี่ยว Fast Track
“ประเทศไทย ต้องยอมรับว่าให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพน้อย แต่ ISO เป็นเรื่องมาตรฐานสากล เป็นเรื่องปกติ แต่คนไทยกลัวมีค่าใช้จ่าย กลัวสอบตรวจไม่ผ่าน ซึ่งอยากจะเปลี่ยนความคิดคนไทยเรื่องตรวจสอบไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่เป็นเรื่องที่ทำให้แข็งแกร่งขึ้นเมื่อผ่านการรับรอง ในส่วนของเซ็นทรัลแล็บมีจุดเด่นเรื่องเครื่องมือและระบบมาตรฐานการตรวจสอบที่เป็นสากลมากที่สุดในประเทศ ไทย มีทั้งออกไปตรวจข้างนอกและมีตรวจห้องแล็บข้างใน มีพนักงาน 450 คน บริการครบเครื่องแต่คนไม่ค่อยรู้จัก จึงอยากที่จะมานั่งทำงานตรงนี้ นี่คือความท้าทาย”
ส่วนกรณี บริษัท ซีซีไอซี (ประเทศไทย) จำกัด จากประเทศจีน มีบันทึกลงนามความร่วมมือด้านวิชาการเท่านั้น ทางบริษัทไม่ทราบรายละเอียดที่มีบริการ ช่อง fast track ทำสติกเกอร์ QR Code ผลไม้ไปจีน เป็นเรื่องของบริษัทไม่เกี่ยวกับเซ็นทรัลแล็บ
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,614 วันที่ 1 - 3 ตุลาคม พ.ศ. 2563