เคลียร์ปมโรงสี ทำไมไม่รับซื้อ “ข้าวหอมพวง" "กข43”

17 ต.ค. 2563 | 05:25 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ต.ค. 2563 | 12:51 น.

“เกรียงศักดิ์”  เคลียร์โรงสีทำไมไม่รับซื้อ “ข้าวหอมพวง-กข43” แบบหมดเปลือก แนะชาวนาตรวจสอบโรงสี-ลาน ใกล้บ้านก่อนปลูก ลดความเสี่ยงขาดทุน

ในช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสข่าวอย่างต่อเนื่องว่า “โรงสี” มีไม่รับซื้อข้าวจากชาวนาด้วย ซึ่งมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ “ข้าวหอมพวง" และ “ข้าวกข43” มาพิจารณาไล่ทีละตัว “ข้าวหอมพวง” เป็นข้าวที่โรงสีภาคกลางแนะนำให้ชาวนาปลูกรับซื้อถึงแปลง จนทำให้ชาวนาติดใจปลูกมาจนถึงทุกวันนี้ แต่จู่ทำไมถึงเปลี่ยนใจ ส่วน “กข43” ราชการก็ส่งเสริมให้ปลูก มีการันตีรับซื้อจากโรงสี แล้วทำไมโดนทิ้งกลางคัน เกิดอะไรขึ้นกับชาวนาไทย ท่ามกลางวิกฤติ ที่ยังไร้หลักประกันโครงการของรัฐบาล “ประกันรายได้ข้าว” อยู่ระหว่างนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

 

เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์

 

จากกรณีดังกล่าวนี้ นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  การปลูกข้าว "พันธุ์กข43" ผู้ที่ปลูกส่วนหนึ่งคือเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการกับกรมการข้าว ซึ่งจะได้รับการรับรองจากกรมการข้าว และได้มีการตั้งราคารับซื้อที่สูงเพื่อจูงใจ  โดยในช่วงแรกที่ กข43 ออกมาใหม่ มีการส่งเสริมในกลุ่มนาแปลงใหญ่โดยกรมการข้าวจัดหาพันธุ์และออก “เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้” ที่เป็นสัญลักษณ์ “สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด” และตัวอักษร “Q” ที่ออกโดยกรมการข้าวให้กับสถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการบางแห่ง ที่รับซื้อข้าวเปลือก “กข43”  โดยร่วมกับกระทรวงพานิชย์มีการส่งเสริมหาผู้ประกอบการค้าข้าว เพื่อรับซื้อข้าวสารมาเชื่อมโยงต่อเนื่องให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผลผลิตของเกษตรกรจะสามารถจำหน่ายได้และมีตลาดรองรับที่แน่นอน  และให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานการผลิต โดยให้ใช้เครื่องหมายรับรองฯดังกล่าวแสดงบนบรรจุภัณฑ์ ข้าว กข43 ที่ได้รับการรับรองแล้ว

 

 

ส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้ร่วมในโครงการนี้แต่นำ “ข้าวพันธุ์กข43  นี้ไปเพาะปลูก เพราะเห็นว่าราคาดี แต่เกษตรกรกลุ่มนี้ไม่ได้รับการรับรองให้ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวจากกรมการข้าว  ก็ต้องขายในตลาดปกติทั่วไป  ซึ่ง “ข้าวพันธุ์กข43” นี้ โดยปกติโรงสีทั่วไปก็จะไม่ค่อยได้รับซื้อมากเท่าไหร่นัก  จะเป็นโรงสีที่ทำข้าว หรือสีข้าวเฉพาะทางที่จะเลือกซื้อข้าวพันธุ์นี้ไปสี  ซึ่งทั้งนี้โดยปกติแล้วเวลาข้าวชนิดใดก็ตามที่ปลูกเยอะหรือมีปริมาณออกมาเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มข้าวพิเศษมีตลาดจำเพาะราคาก็มักจะปรับตัวลงและมีผลกระทบที่เป็นไปตามสภาวะตลาด   ดังนั้นก่อนที่เกษตรกรจะเลือกปลูกข้าวชนิดใดก็ตาม จึงควรที่จะต้องตรวจสอบในพื้นที่ดูว่ามีผู้รับซื้อข้าวชนิดนั้นๆมากน้อยแค่ไหน และมีการรับซื้อข้าวชนิดไหนมาก มีช่องทางจำหน่ายผลผลิตมากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรเอง

 

ข้าวพันธุ์ กข43

 

ทั้งนี้  “ข้าวพันธุ์กข43 นี้ ก็มีคุณสมบัติเรื่องของดัชนีน้ำตาลต่ำ ถือเป็นข้าวที่มีคุณลักษณะพิเศษและถือว่าเป็นสินค้าในตลาดจำเพาะ  ซึ่งโรงสีทั่วไปไม่ได้สีข้าวชนิดนี้เป็นหลัก  โรงสีที่จะสีข้าวชนิดนี้ต้องเป็นโรงสีที่ทำข้าวเฉพาะทางจริงๆที่จะใช้ข้าวชนิดนี้   อีกทั้งข้าวชนิดนี้ถ้าวางจำหน่ายส่วนใหญ่ก็จะต้องมีตรารับรองจากกรมการข้าวว่าได้มาจากแปลงที่ได้รับการรับรองดังกล่าวอีกด้วย  ถือว่าเป็นข้าวที่เป็นกลุ่มค่อนข้างจำเพาะ แต่ก็มีเกษตรกรนำไปเพาะปลูกนอกโครงการจำนวนมากและมีการจำหน่ายเป็น “ข้าวสารกข43 ในตลาดทั่วไป

 

ส่วน “ข้าวหอมพวง” หรือที่เรามักจะได้ยินว่า “ข้าวจัสมิน” ที่เกษตรกรไทยได้นิยมปลูกมาราว 4-5 ปี ที่ผ่านมานี้  เนื่องจากเกษตรกรเห็นว่าข้าวชนิดนี้ให้ผลผลิตดี ดูแลง่าย ต้นเตี้ย และเป็นข้าวพื้นนุ่ม  ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็รับซื้อและนำมาใช้ในตลาดภายในประเทศ  แต่หากดูเรื่องความยาวของเมล็ด ข้าวหอมพวงนั้นมีความยาวเมล็ดต่ำกว่าชั้นคุณภาพของข้าวขาว5% (โดยเฉลี่ย)  ทั้งนี้ข้าวชนิดนี้มักจะถูกเรียกและเข้าใจว่าเป็นพันธุ์ข้าวของประเทศเวียดนาม คือไม่ทราบแหล่งที่มาได้อย่างชัดเจน ทางกรมการข้าวไม่ได้รับรองพันธุ์นี้ 

 

ข้าวหอมพวง

 

แต่ก็กลับได้รับความนิยมจากเกษตรกรเป็นอย่างมากเนื่องจากผลผลิตดีและเป็นข้าวพื้นนุ่มอีกด้วย ซึ่งช่วงก่อนหน้านี้ที่เกษตรกรยังไม่หันมาปลูกกันมากก็ถือว่าได้ราคาที่ดี  แต่ ณ ปัจจุบัน ราคาข้าวทุกชนิดข้าวถือว่าปรับตัวลงทั้งหมดทุกชนิด ซึ่งก็ถือว่าเป็นไปตามสภาวะตลาด  บวกกับ ข้าวหอมพวง ยังไม่ได้ถูกรับรองพันธุ์ (พันธุ์ข้าวอาจไม่นิ่งเพราะไม่ได้ถูกคัดสายพันธุ์)  ดังนั้นเกษตรกรอาจจะต้องหาข้อมูลผู้รับซื้อในพื้นที่ด้วยก่อนจะเลือกปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าว

 

ดังนั้นถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการนำข้าวชนิดต่างๆ ที่มีลักษณะพิเศษสำหรับตลาดเฉพาะเพื่อนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูก หรือเกษตรกรหาพันธุ์ข้าวไปเพาะปลูกเองตามกระแส สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอันดับต้นๆคือ “ตลาดที่จะรับซื้อผลผลิต” หากปลูกในพื้นที่ๆ ไม่มีผู้รับซื้อข้าวชนิดพันธุ์นั้นๆโดยเฉพาะท่านก็จะไม่ได้รับราคาที่ดีเท่าที่ควร  เพราะข้าวแต่ละชนิดก็มีโรงสีรับซื้อต่างกันขึ้นอยู่กับโรงสีนั้นๆว่าสีข้าวชนิดใด  โรงสีบางโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกหลายชนิด ในขณะที่บางโรงสีก็รับซื้อข้าวเปลือกชนิดเดียว และบางโรงสีก็รับซื้อข้าวที่ตนเองถนัดตาม และตามสภาวะตลาดและช่องทางตลาด ของโรงสีนั้นๆ