ล่าสุดศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติอนุมัติให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มเติมใน 2 กลุ่มหลัก คือ
1.กลุ่มที่ขออนุญาตเดินทางเข้ามายังประเทศไทยโดยทางเรือ ซึ่งเป็น นักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางเข้ามาด้วยเรือหรูอย่างเรือยอร์ช เรือซุปเปอร์ยอร์ช และเรือครุยซ์ ซึ่งกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาได้รายงานว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ได้ทำเรื่องขออนุญาตเข้ามายังประเทศไทยกว่า 60 ลำ รวมนักท่องเที่ยว 600 – 650 คน คาดว่าจะมีเงินสะพัดในประเทศไทยจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กว่า 2,100 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อเดินทางมาถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องกักตัวบนเรือก่อน 14 วัน และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำ 3 ครั้ง หากไม่พบโควิด-19 ก็จะสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวที่อื่นๆทั่วประเทศไทยได้ ซึ่งกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยนานกว่า 1 เดือน และจะมีการใช้จ่ายเงินจำนวนมากเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง
2.กลุ่ม Wellness Tourism หรือ เวลเนส ทัวริสซึม ซึ่งประกอบไปด้วย กลุ่มรีสอร์ท สปา และกลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องการเข้ามาพำนักในประเทศไทยระยะยาว ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้เร่งรัดนโยบาย การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Travel)ด้วย
สำหรับประเด็นเรื่องการลดระยะเวลากักตัว แต่ก็มีการหารือกันว่าอาจลดระยะเวลากักตัวลงจาก 14 เหลือ 10 วัน 7 วัน หรือไม่กักตัวเลยแต่อาศัยการตรวจตั้งแต่ต้นทางและตรวจซ้ำในประเทศไทย แต่ต้องมีการหารือรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้นภายในสัปดาห์หน้าก่อนเสนอที่ประชุม ศบค. อีกครั้ง
นอกจากนี้ศบค. ยังอนุมัติให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ชมในสนามกีฬาโดยเพิ่มในสนามกีฬากลางแจ้งจาก 25% เป็น 50% ส่วนสนามกีฬาในร่มให้เพิ่มจาก 15% เป็น 30% เพื่อให้มีผู้ชมเข้าชมในสนามกีฬามากยิ่งขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ให้มีการควบคุมจำนวนผู้เข้าชมให้น้อยเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด
พลเรือโท เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการ ทัพเรือภาคที่ 3/ผู้อำนวยการ ศรชล.ภาค 3 เปิดเผยว่า ตามที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้อนุญาตให้เรือยอร์ชเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ เช่น เรือซุปเปอร์ยอร์ช ที่มีความยาวตั้งแต่ 30 เมตรขึ้นไป และมีผู้โดยสารไม่เกิน 12 คน รวมทั้งเรือครุยเซอร์ ที่เป็นเรือสำราญขนาดเล็ก
ปัจจุบันได้มีเรือสำราญแจ้งความประสงค์เข้ามาเพื่อทำการท่องเที่ยวในราชอาณาจักรไทย จำนวน 60 ลำ โดยเป็นเรือซุปเปอร์ยอร์ช จำนวน 27 ลำ และ เรือครุยเซอร์ จำนวน 33 ลำ รวมผู้โดยสารประมาณ 600 – 700 คน คาดว่าจะมีเรือบางลำเข้ามาจอดในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งทัพเรือภาคที่ 3 ได้จัดเตรียมกำลังพร้อมให้การสนับสนุน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภาค 3 หรือ ศรชล.ภาค 3 ในการเฝ้าระวังเรือยอร์ชต่าง ๆ ที่จะเดินทางเข้ามาจอดในพื้นที่ทะเลอันดามันทั้งหมด ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ทางราชการกำหนด โดยปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ และยังเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้นอีกด้วย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขอไฟเขียว ‘ยอร์ชต่างชาติ’เข้าไทยกักกันโรค14วันบนเรือยันไม่เสี่ยง
ศบค.เห็นชอบเพิ่มจำนวนผู้ชมกีฬา
ศบค.เคาะต่อ"พรก.ฉุกเฉิน"อีก 1 เดือนถึง 30 พ.ย