นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ ฟิลิปส์ เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้วงการแพทย์เกิดภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากกำลังผลิตต่ำลง ขณะเดียวกันในบางชิดก็มีความต้องการพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องช่วยหายใจ มอนิเตอร์ติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย ส่งผลให้แนวทางการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์หลังการระบาดของโควิด-19 บริษัทได้มีการเร่งให้เกิดการผลักดันสู่ยุค Smart Health เร็วขึ้น เพื่อให้แพทย์และคนไข้เว้นระยะห่างกันมากขึ้น
“เพื่อรองรับความต้องการเครื่องช่วยหายใจในระดับโลกบริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิต เครื่องช่วยหายใจเป็น 4 เท่า และโรงงานเพิ่มระยะเวลาการทำงาน 24 ชั่วโมงตลอด 7 วันเพื่อให้ทันต่อความต้องการในโรงพยาบาลต่างๆทั่วโลก และหากยังมีการระบาดของโควิด-19 ความต้องการเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิด-19 จะเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มเครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ และ Telemedicine ก็จะมีความต้องการมากขึ้น”
ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทเองได้มีการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับ Telemedicine มากกว่า โดยเฉพาะด้าน Tele-ICU เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนให้ความสนใจและตื่นตัวติดตามข่าวสารในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Ingenia MRI Elition 3.0Tesla/ Ambition1.5Tesla ,Azurion5 – เครื่องสวนหลอดเลือดหัวใจรุ่นล่าสุด ที่มาพร้อม Smart Solution ให้ภาพคมชัดแบบ 3มิติ , Intrepid defibrillator เครื่องกระตุกหัวใจที่โดดเด่นด้วยขนาดเล็ก น้ำหนักเบา , Tele-Radiology Solution – ระบบการส่งภาพตรวจทางรังสีวิทยาแบบทางไกล และTrilogy Evo – เครื่องช่วยหายใจเกรดโรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยสามารถนำกลับไปใช้ที่บ้านได้ เป็นต้น
นอกจากนี้เพื่อเป็นการรองรับภาพรวมตลาดที่ทรุดตัวดังกล่าวบริษัทได้ปรับแผนให้โรงพยาบาลรัฐบาลเช่าเครื่องมือแพทย์ โดยการขายเป็นการเสนอรูปแบบแบ่งผลประโยชน์ระหว่างบริษัทกับโรงพยาบาล เช่น การร่วมทุนรัฐกับเอกชน (พีพีพี) และอีกแนวทางหนึ่งคือการให้เช่าเครื่องมือแพทย์ สัญญาเช่าตั้งแต่ 3-5 ปี และ 5-7 ปี ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลรัฐบาลเริ่มนิยม ใช้รูปแบบนี้มากขึ้น หลังผลกระทบจาก โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจถดถอยส่งต่อธุรกิจเครื่องมือแพทย์ในไทยทำให้โรงพยาบาลรัฐบาลและเอกชนชะลอหรือยกเลิกการลงทุน
ควบคู่กับการปรับแผนงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง Healthcare Industry ที่จะเกิดขึ้นหลังการระบาดของโควิด -19 โดยในส่วนของทิศทางธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพมียอดขายถึง 200,000 ล้านบาท โดยประเมินว่าในสิ้นปีนี้จะติดลบ 7% เนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของหลายธุรกิจทั่วโลก ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จะฟื้นตัวได้ในปี 2564-2565 น่าจะเติบโตที่ 4-6%
แต่อย่างไรก็ตามมองว่าในท้องตลาดยังมีปัจจัยที่สนับสนุนให้ธุรกิจเครื่องมือแพทย์มีโอกาสเติบโตได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ที่ส่งผลต่อการอัตราการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และเบาหวาน เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันหากการระบาดของโควิด-19 ยังคงรุนแรง จะส่งผลให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากมาตรการล็อกดาวน์ และงดการบิน การท่องเที่ยวภายในประเทศ ก็จะส่งผลต่อภาพรวมธีกิจเคราองมือแพทย์ไปด้วย โดยกลุ่มเครื่องมอืแพทย์ขนาดใหญ่มูลค่าหลักสิบล้านบาทจะเติบโตน้อยลง จากการชะลอการจัดซื้อของโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อนำเม็ดเงินไปหมุนเวียนค่าใช้จ่ายเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับโควิด -19 ก่อน
“เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ป่วยมีกำลังซื้อน้อยลง และไปโรงพยาบาลน้อยลง ทำให้การลงทุนของโรงพยาบาลเอกชนชะลอตัว ซึ่งในปี 2564 มีแค่บางโรงพยาบาลเท่านั้นที่เริ่มกลับมามีกำลังซื้อ หากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกสอง อาจส่งผลให้นโยบาย Medical Hub ของไทยต้องชะลอออกไป เนื่องจากอาจมีมาตรการจำกัดจำนวนชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย”
สำหรับภาพรวมกลุ่มธุรกิจฟิลิปส์ประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะเติบโตทรงตัวจากปีที่ผ่านมา เฉพาะธุรกิจเครื่องมือแพทย์ที่ถดถอยตามตลาด โดยเฉลี่ยสัดส่วนธุรกิจเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทยระหว่างภาครัฐและเอกชน คือภาครัฐ 70% และเอกชน 30% คิดเป็นสัดส่วนกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์ขนาดเล็กเป็น 30% (ประมาณ 1 ใน 3) ของกลุ่มสินค้าเครื่องมือแพทย์ทั้งหมดของฟิลิปส์ในประเทศไทย โดยปัจจุบันสัดส่วนกลุ่มธุรกิจของฟิลิปส์แบ่งออกเป็น เครื่องมือแพทย์ 60% เครื่องใช้ไฟฟ้า 40%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เทรนด์รักสุขภาพ หม้อทอดไร้น้ำมันแรง “ฟิลิปส์” โอ่โต 200%
ฟิลิปส์ – ช้อปปี้ โคมาร์เก็ตติ้ง 360 องศา ดันยอด 9.9 Shopping Day